การดูแลสุขภาพเป็นหัวข้อหนึ่งที่คนเราคาดหวังว่าจะทำให้สำเร็จ ทั้งใส่ใน New Year’s Resolution ในช่วงปีใหม่ก็แล้ว อุปกรณ์ออกกำลังกายก็พร้อมแล้ว แหล่งซื้ออาหารคลีนก็มีแล้ว แต่ทำไมยังทำไม่ได้สักที
แม้การดูแลสุขภาพจะเป็นเรื่องที่ดีแต่คนเราต่างมีเงื่อนไขชีวิตมากมายต่างกันไปทำให้มีเวลาดูแลตัวเองแตกต่างกัน ผลสำรวจ YouGov ของกองทุนวิจัยมะเร็งโลก (WCRF) ที่สำรวจคนในสหราชอาณาจักรจำนวน 2,086 คนเผยว่า 35% ไม่ยอมดูแลสุขภาพเพราะรู้สึกเหนื่อยเกินไป ในจำนวนนี้เป็นผู้ชาย 29% และผู้หญิง 40%
ผู้ตอบแบบสอบถามอีก 38% ตอบว่าเป็นเพราะขาดแรงจูงใจ ส่วนเหตุผลอื่น มีทั้งเพราะอาหารที่ดีต่อสุขภาพมีราคาแพง (30%) ไม่มีเวลา (26%) ขาด Work-Life Balance (25%) นอกจากนี้ ยังมีผู้กล่าวว่าอุปสรรคอยู่ที่ราคาค่าออกกำลังกาย (25%) อย่างการสมัครสมาชิกยิมหรือการซื้ออุปกรณ์ บางส่วนตอบว่าเป็นเพราะขาดความมั่นใจ (16%) และไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี (12%)
ทั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 24% หรือ 1 ใน 4 ของจำนวนทั้งหมดที่ตอบว่า พวกเขาสามารถดูแลสุขภาพได้โดยไม่ได้เผชิญอุปสรรคอะไร
ทางฝั่งของสหรัฐอเมริกาเองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเผยว่า เกือบครึ่งของชาวอเมริกันไม่สามารถทำตามคำแนะนำที่ให้ออกกำลังกายที่ออกแรงในระดับปานกลาง (อย่างเช่น การเดินเร็ว) เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที 3-4 วันต่อสัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น ชาวอเมริกัน 1 ใน 4 กล่าวว่า พวกเขาไม่เคยใช้เวลาว่างไปกับการออกกำลังกายเลย
WCRF ได้ปล่อยโครงการดูแลสุขภาพระยะ 8 สัปดาห์เพื่อช่วยให้ผู้คนสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพไปพร้อมกับการทำกิจวัตรประจำวันตามปกติเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นมะเร็งและโรคอื่น ๆ โดยเผยข้อมูลว่า 1 ใน 2 ของคนทั่วไปจะป่วยเป็นโรคมะเร็งในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
สถาบันมะเร็งของสหราชอาณาจักรประมาณการณ์ว่า จำนวนผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งจะหายไปถึง 40% หากมีคนที่หันมาสนใจดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งนาน ๆ และการสูบบุหรี่
ทางฝั่งประเทศไทย จากการสำรวจข้อมูลของกรมพลศึกษาเรื่องการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาของประชาชนประจำปี 2022 เผยว่า ในภาพรวมทั้งประเทศ 40.38% ของกลุ่มอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปออกกำลังหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนสาเหตุของผู้ที่ไม่ออกกำลังกายส่วนใหญ่คือ ไม่มีเวลา (56.20%) เพราะสถานการณ์โควิด (27.06%) และขี้เกียจ (12.71%)
ที่มา – The Guardian, Harvard University