เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดการเงินของไทยอยู่ในภาวะผันผวน เนื่องจากนักลงทุนอาจต้องรอจนถึงเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อดูว่าแนวร่วมของพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ หลังจากมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองซึ่งก่อให้เกิดการเทขายหลังการเลือกตั้งสูงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ
โดยความไม่แน่นอนดังกล่าวได้กระตุ้นให้เงินทุนไหลออกตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ส่งผลให้ตลาดหุ้นที่มีผลประกอบการย่ำแย่ที่สุดของเอเชียในปีนี้แย่ลง และส่งค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ในขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลบเซ็น MOU อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ ขณะที่การรายงานเศรษฐกิจรายไตรมาสแสดงการเติบโตที่ดีกว่าที่คาดไว้
วิษณุ วาราธาน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและกลยุทธ์ของ Mizuho Bank Ltd. ในสิงคโปร์กล่าวว่า “นี่เป็นกรณีคลาสสิกของการเมืองที่เข้ามาขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อสินทรัพย์ของไทยอย่างแน่นอน”
โดย กกต.มีเวลา 60 วันหลังการลงคะแนนเพื่อประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและรับรอง 95% ของที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร วาระแรกของการประชุมรัฐสภาใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายใน 15 วัน นั่นทำให้ไทม์ไลน์ของการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ที่ราวปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคม
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรของประเทศเป็นวันที่ 5 ในวันอังคาร โดยไหลออกรวมกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยขายหุ้นออกไปเป็นเวลา 11 วันติดต่อกัน เงินออกไป 725 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย Bloomberg ดัชนี SET Index ลดลง 1.7% ตั้งแต่การเลือกตั้ง เงินบาทอ่อนค่าต่ำสุดรอบ 2 เดือนในวันอังคาร
Alan Richardson ผู้จัดการกองทุนของ Samsung Asset Management Co กล่าวว่า หากรัฐบาลผสมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคต่างๆ คาดว่าจะปฏิบัติตามสัญญาในการแจกเงิน เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มเบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้รับบำนาญและผู้สูงอายุ พรรคก้าวไกลยังให้คำมั่นว่าจะยุติการผูกขาดทางธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนนอกกรุงเทพฯ