สำรวจเผยผู้บริโภคไทย เปิดใจรับรถยนต์ EV มากสุดใน SEA พร้อมใช้เป็นยานพาหนะหลัก เมื่อเปลี่ยนใหม่หลังจากนี้ หวังชาร์จเต็มใน 10-60 นาที วิ่งไกลสุด 300-500 กม. สถานีชาร์จ EV โดยเฉพาะ โจทย์ใหญ่คลายกังวลผู้บริโภคในภูมิภาค ยอมตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
ดีลอยท์ (Deloitte) บริษัทด้านบริหารจัดการ และนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่การปรับตัวของภาคธุรกิจ
เผยรายงาน Global Automotive Consumer Study 2023 สำรวจความเห็นและพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกเกี่ยวกับยานยนต์ โดยมีส่วนการเจาะลึกผู้บริโภคในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) หรือ Southeast Asia Perspectives
โดยสำรวจระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 17 ตุลาคม 2022 ฐานผู้บริโภค 26,000 คน จาก 24 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็นใน SEA จำนวน 6,048 คน ทั้ง ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคคนไทย 1,009 คน
คนไทย พร้อมใช้รถยนต์ EV เป็นยานพาหนะหลักมากสุดใน SEA แต่รถน้ำมัน ยังกินแชร์ส่วนใหญ่ |
||||
ประเทศ |
EV |
PHEV |
HEV |
สันดาป |
1. ไทย | 31% | 19% | 10% | 36% |
2. เวียดนาม | 19% | 18% | 7% | 49% |
3. สิงคโปร์ | 13% | 13% | 36% | 34% |
4. อินโดนีเซีย | 9% | 15% | 16% | 59% |
5. มาเลเซีย | 4% | 14% | 23% | 58% |
6. ฟิลิปปินส์ | 2% | 10% | 13% | 72% |
ที่มา: Deloitte สำรวจความต้องการใช้รถยนต์คันต่อไป ของผู้บริโภค 6 ประเทศในภูมิภาค SEA 6,048 คน เฉพาะไทย 1,009 คน/เผยแพร่ พฤษภาคม 2566 |
ใจความสำคัญจากผลสำรวจ พบว่า ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ น้ำมัน ยังคงเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคใน SEA ส่วนไทย เป็นประเทศที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อรถยนต์ EV เป็นยานพาหนะคันต่อไปมากที่สุดในภูมิภาค
เหตุผลสำคัญ คือ ต้องการลดรายจ่ายด้านราคาเชื้อเพลิง โดยจะตัดสินใจเลือกซื้อรถคันต่อไปจากคุณภาพผลิตภัณฑ์, คุณสมบัติของรถ และภาพลักษณ์ของแบรนด์
ส่วนความกังวลที่ผู้บริโภคทั้ง 6 ประเทศใน SEA ล้วนเห็นตรงกัน คือ ความพร้อมของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ โดยผู้บริโภคต้องการสถานีชาร์จที่สร้างขึ้นมาสำหรับรถยนต์ EV โดยเฉพาะ
ขณะที่ ดีลเลอร์ ยังเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคให้ความไว้ใจมากที่สุด เมื่อตัดสินใจซื้อรถยนต์มือ 1 ในรอบการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่คันถัดไป
เจาะจงไปที่ คนไทย ยังพบว่ารับได้กับระยะเวลารอชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ระหว่าง 10-60 นาที และคาดหวังระยะทางวิ่งไกลสูงสุด ต่อรอบการชาร์จเต็ม 300-500 กิโลเมตร โดยต้องการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน เป็นช่องทางหลักในการชำระค่าชาร์จ
ส่วนการเปิดใจที่จะอนุญาตให้รถยนต์คู่ใจ เชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ผลิต และผู้ให้บริการหลังการขาย ไทย เป็นกลุ่มที่มีผู้บริโภคให้ความร่วมมือมากที่สุดในภูมิภาค
เพราะคาดหวังประโยชน์ด้านการซ่อมบำรุง, การประเมินค่าบำรุงจากนิสัยการขับขี่, คำแนะนำที่เฉพาะสำหรับการลดค่าซ่อม และการแนะนำเส้นทางขับที่ปลอดภัย
ข้อมูลที่คนไทยยอมรับได้ ในการให้รถแลกเปลี่ยนกับการเชื่อมต่อ ได้แก่ ข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometric Data) และเซนเซอร์ต่าง ๆ ของตัวรถ
หากต้องมีการจ่ายค่าบริการเสริมอื่น ๆ เพื่อการเชื่อมต่อ ผู้บริโภคไทย และส่วนใหญ่ของภูมิภาค SEA เลือกที่จะจ่ายตามจริงเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ การจ่ายครั้งเดียว และจ่ายรายเดือน
มงคล สมผล Automotive Sector Leader ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปรากฏในรายงาน เป็นที่น่าจับตามองมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย ที่มีห่วงโซ่อุปทานแยกย่อยออกไปในหลาย ๆ มิติ มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนมากมาย
ความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคจากผลสำรวจ จะเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว อย่างไรก็ดี ทุกอย่างอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งปัจจัยด้านราคา, พลังงาน, เทคโนโลยี และความต่อเนื่องของการสนับสนุนจากภาครัฐ
อ่านรายงานฉบับเต็ม: Deloitte
ที่มา Marketeeronline