ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
เศรษฐกิจไทย
กนง.ขึ้นดอกเบี้ยเป็น 2% หลังเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง
- คณะกรรมการนโยบายการเงินขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันทีถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 6 ครั้ง โดยแรงส่งมาจากภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าที่ประเมินไว้ จนส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการบริโภคของภาคเอกชน
- ธปท. คาดการณ์ว่า ในปี 2566 และ 2567 GDP ของประเทศไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวที่ 3.6% และ 3.8% จากไฟฟ้า และราคาน้ำมันที่ทยอยลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อ กำลังปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดย ธปท. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.5% ในปีนี้ และ 2.4% ในปีหน้า
- อย่างไรก็ตามหากสภาวะเศรษฐกิจไทยรวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ กนง. ก็พร้อมปรับแผนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในอนาคต (บางกอกโพสต์)
สศอ. ปรับลดเป้าจีดีพีอุตสาหกรรม ปีนี้โต 0.0-1.0%
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเม.ย.หดตัว 8.14% MPI 4 เดือนแรก ปี2566 หดตัว 4.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจึงปรับลดเป้า GDP
- สาเหตุหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรวมถึงต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยลดลง อุตสาหกรรมที่ต้องจับตาคือกลุ่มยานยนต์อย่างรถกระบะซึ่งเคยเติบโตดี แต่เริ่มชะลอตัวจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือน
- นโยบาย ECC และการส่งเสริมลงทุนอุตสาหกรรม New S-Curve ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม จากยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่เริ่มการผลิต ทำให้ต้องจับตามองถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนเม.ย. 2566 ได้แก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม มอลต์และสุรา น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษและกระดาษแข็ง (กรุงเทพธุรกิจ)
ต่างประเทศ
‘เสียวหมี่’ จับมือยักษ์ใหญ่เทคโนฯ ฟื้นแข่งผลิตสมาร์ตโฟนในอินเดีย
- รัฐมนตรีเทคโนโลยีอินเดียเปิดเผยว่า บริษัทเสียวหมี่ได้แจ้งให้รัฐบาลนเรนทรา โมดีได้ทราบถึงแผนการให้บริษัทดิกสันเป็นผู้ประกอบ และส่งออกสมาร์ตโฟนเสียวหมี่
- อดีตเสียวหมี่เคยเป็นผู้นำการผลิตสมาร์ตโฟนชนิดไร้คู่แข่งในอินเดีย แต่เจออุปสรรคหลังต้องเจอกับกฎระเบียบด้านการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวดรวมถึงการปราบปรามธุรกิจจีนที่มีที่มาไม่ชัดเจน
- การที่เสียวหมี่ค้นหาพันธมิตรด้านการผลิตในอินเดียอาจทำให้เสียวหมี่ได้ใจจากรัฐบาลนิวเดลี หุ้นของดิกสัน พุ่งขึ้น 4% หลังจากที่เสียวหมี่อินเดีย เปิดแผนการที่จะเริ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงไร้สายในอินเดีย โดยร่วมมือกับ Optiemus ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กรุงเทพธุรกิจ)