ทันทุกข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจการลงทุน กับ CP Business Watch
สำนักเศรษฐกิจและการลงทุนของเครือฯ (Economic and Investment Center) ขอนำเสนอ ข่าว บทความ และบทวิเคราะห์เชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารและพนักงานในเครือฯ เพื่อเสริมการตัดสินใจด้านธุรกิจและการลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และการลงทุน เพื่อใช้ประกอบการวางแผนกลยุทธ
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสหรัฐ ฯ
ค่ายรถและผู้ผลิตแบตเตอรี่แห่ตั้งฐานผลิตที่สหรัฐฯ คาดมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์
- กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเครดิตภาษี EV ของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ผล ล่าสุดบรรดาผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV จากฝั่งเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี พากันไปลงทุนตั้งฐานผลิตตลาดสหรัฐฯ อย่างคึกคัก หนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตเร็วเกินคาด
- Nikkei Asia รายงานว่า อุตสาหกรรม EV ตลาดสหรัฐฯ เต็มไปด้วยผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก โดยขณะนี้คาดว่ามีการลงทุนรวมประมาณ 1.4 แสนล้านดอลลาร์
- ปัจจัยหลักมาจากกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ให้เครดิตภาษีสูงถึง 7,500 ดอลลาร์ แก่ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ใหม่ รวมถึงผู้ผลิต EV ที่ประกอบในอเมริกาเหนือ
- การลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่ากำลังการผลิตแบตเตอรี่ของสหรัฐฯ จะเพียงพอที่จะครอบคลุมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 13 ล้านคันในปี 2030 (เดอะสแตนดาร์ด)
เศรษฐกิจเอเชีย
คาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียว่าจะโดดเด่นกว่าจีน และเอเชียยังคงเติบโตสวนทางแนวโน้มทั่วโลก
- การเติบโตทางเศรษฐกิจในอินเดียคาดว่าจะแซงหน้าจีนในปีนี้และปีหน้า ตามรายงานของ OECD
- รายงานฉบับล่าสุด OECD คาดการณ์ว่าอินเดียจะเติบโต 6% ในปี 2566 จีนเติบโต 5.4% อินโดนีเซียเติบโต 4.7% สูงสุดในปี 2566 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น และคาดว่าการเติบโตทั่วโลกจะอยู่ที่ 2.7% ในปีนี้
- โมเมนตัม การเติบโตทั้งปีของอินเดียจากในปี 2565 คาดว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงปีนี้ หลังจากผลผลิตภาคเกษตรสูงเกินคาดและการใช้จ่ายภาครัฐที่แข็งแกร่ง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าจะช่วยให้โมเมนตัมการใช้จ่ายของครัวเรือนกลับมา นอกจากนี้ยังคาดว่าธนาคารกลางของอินเดียจะหันมาใช้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อยตั้งแต่กลางปี 2567
- ในขณะที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงอีก แต่เอเชียคาดว่าจะยังคงเป็นจุดที่สดใสเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคคาดว่าจะยังคงค่อนข้างต่ำ (ซีเอ็นบีซี)
ส่งออกไทย
วิกฤตคลื่นความร้อนระอุ… หนุนเครื่องปรับอากาศไทย ใช้สิทธิ GSP ส่งออกสหรัฐฯ พุ่ง
- สถานการณ์คลื่นความร้อนในสหรัฐฯ ส่งผลทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสินค้าครองแชมป์อันดับ 1 ยังคงเป็นชิ้นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูงถึง 146.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 19.35% ของมูลค่าการส่งออก
- อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่สินค้าไทยภายใต้โครงการ GSP โดยไทยมีสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% จากสหรัฐฯ ภายใต้โครงการ GSP จำนวนกว่า 2,600 รายการ เช่น อาหารปรุงแต่ง เลนส์แว่นตา ถุงมือยาง กระเป๋าใส่เสื้อผ้า
- แม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯ ได้สิ้นสุดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนการต่ออายุโครงการฯ ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ ไปจนกว่าโครงการฯ จะได้รับการต่ออายุ อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอรักษาการใช้สิทธิ GSP ในการนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีเมื่อโครงการฯ ได้รับการต่ออายุ
- GSP ที่ไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (พีพีทีวี)