องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ประมาณการณ์ว่ามีโอกาส 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม และมีโอกาสถึง 80% ที่จะเกิดในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ทำให้ปีนี้ความรุนแรงของวิกฤตแล้งและฝนแล้งอาจเพิ่มขึ้น
‘เอลนีโญ’ เป็นปรากฏการณ์ที่ชี้วัดถึงความแห้งแล้ง เพราะจะทำให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ ขณะเดียวกัน อากาศจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ พูดง่ายๆ คือ “ทั้งแล้งและร้อน” สำหรับไทย กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ฤดูฝนจะมาช้ากว่าปกติ โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5% และน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปจนถึงเกษตรกร ต้องเร่งวางแผนรับมือโดยเร็วที่สุด
หนึ่งในตัวอย่างของเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตแล้งมาตลอด คือ ปรีชา เศรษฐโภคิน อายุ 77 ปี เจ้าของ “สวนส้มโอสระแก้ว” เริ่มต้นอาชีพการปลูกส้มโอ บนพื้นที่ 200 ไร่ ที่ ต.บ้านแก้ง อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว พร้อมกับเริ่มใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรปราจีนบุรี 2 ในโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ของ CPF ตั้งแต่ปี 2548 หรือ 18 ปีที่แล้ว นับจากเริ่มปลูกส้มโอต้นแรก เรียกได้ว่าเป็นเกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการปันน้ำปุ๋ยฯ เป็นรุ่นแรก ๆ
คุณปรีชา เล่าว่า ส้มโอทองดี เป็นส้มโอไร้เมล็ดที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์โดยเครือซีพี ส้มโอก็เหมือนพืชชนิดอื่นๆ ที่ต้องการน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสงและละลายให้ธาตุอาหารพืชในดินอยู่ในรูปที่พืชสามารถใช้ประโยชน์ ดังนั้น เกษตรกรต้องให้ความสำคัญในการจัดเตรียมน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นพืช ที่สวนส้มโอสระแก้วใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดสรรพื้นที่กักเก็บน้ำ 24 ไร่ เก็บน้ำได้ 2 แสนตัน สำหรับใช้รวมกับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มหมู ซึ่งเพียงพอกับการให้น้ำ 6 เดือน ช่วงไหนที่ฝนทิ้งช่วงก็สามารถดึงน้ำส่วนนี้มาใช้ได้ ลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง พร้อมทั้งเก็บสถิติตัวเลขน้ำฝนทุกปีเพื่อวางแผนการใช้น้ำที่เหมาะสม
“ฟาร์มหมูคือโรงปุ๋ยของสวนส้มโอ เพราะหมูที่เลี้ยงในฟาร์มกินอาหารเหมือนคน มีทั้งข้าวโพด ปลาป่น กากถั่ว แร่ธาตุ วิตามิน ซึ่งย่อยไม่ได้ทั้ง 100% ส่วนที่เหลือเข้าระบบไบโอแก๊ส หมักได้ก๊าซมีเทน นำมาใช้ปั่นไฟสำหรับฟาร์มหมู แต่ในน้ำหลังการบำบัดก็ยังเหลือแร่ธาตุอยู่อีก 10-20% เราก็นำมาเลี้ยงส้มโอ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 30-40% ค่าปุ๋ยลดลงได้มากและคุณภาพดินก็ดีขึ้น จากแรกเริ่มดินมีสภาพเป็นกรด PH 3.5-4.5 ใช้เวลาปรับสภาพดินให้มี PH 5.5-6.5 ภายในระยะเวลา 4 ปี ต้นพืชก็แข็งแรง โรคในพืชก็น้อยลง นี่คือบทพิสูจน์ว่าพืชกับสัตว์ไปด้วยกันได้” คุณปรีชา กล่าว
ฟาร์มมีบ่อพักน้ำ บริเวณหลังบ่อไบโอแก๊ส น้ำที่ถูกหมักในระบบใช้เวลาเดือนครึ่งถึง 2 เดือน จะล้นออกมาทางท่อ ล้นเข้าบ่อพักน้ำ แล้วจึงใช้ปั๊มสูบน้ำปุ๋ยมาเจือจางกับน้ำฝนหรือน้ำผิวดิน ทำให้น้ำปุ๋ยเจือจาง คล้ายกับการทำน้ำแกงให้ส้มโอ โดยใช้น้ำปุ๋ย 20% ต่อการรดน้ำช่วง 200 วันต่อปี ใช้น้ำปุ๋ยวันละ 20 ลิตรต่อต้น เท่ากับใช้น้ำปุ๋ยทั้งหมด 4,000 ลิตรต่อต้นต่อปี เมื่อถึงฤดูฝนก็ให้น้ำฝนเลี้ยงต้นไม้ ต้นไม้ได้ทั้งน้ำและปุ๋ยที่เพียงพอ จึงสมบูรณ์และให้ลูกดก ผลผลิตดี ปัจจุบันที่สวนส้มโอให้ผลผลิตประมาณ 250 ลูกต่อต้นต่อปี ถือว่าดีมาก และยังเคยได้ผลผลิตมากถึง 316 ลูกต่อต้นต่อปี
เกษตรกรอีกรายที่บอกว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในอาชีพต้องยกให้น้ำปุ๋ยจาก CPF คือ รวิท แก้วสุนทร อายุ 56 ปี เกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อย 150 ไร่ ใน อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว ที่ได้รับการสนับสนุนน้ำปุ๋ยจากโรงชำแหละสุกรสระแก้ว ตั้งแต่ปี 2561 จากจุดเริ่มต้นเพราะมีปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จึงปรึกษากับ CPF เพื่อขอนำน้ำปุ๋ยในบ่อบำบัดสุดท้ายมาใช้ เมื่อก่อนต้องใช้น้ำสระในพื้นที่ โดยใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำมาใช้ เสียค่าใช้จ่ายซื้อน้ำมัน 18 ลิตร สำหรับปั่นเครื่องสูบน้ำ 2 วัน เฉลี่ยแล้วใช้เงิน 600 บาท เมื่อได้เข้าร่วมโครงการปันน้ำปุ๋ยฯ บริษัทฯ ต่อท่อน้ำออกมาเพื่อให้เกษตรกรสามารถเปิดใช้น้ำได้ทันที จึงหมดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำเลย ขณะเดียวกัน การน้ำปุ๋ยมาใช้กับไร่อ้อย หลังจากตัดอ้อยและรถไถเกลาร่องเสร็จ ก็ปล่อยน้ำปุ๋ยเข้าไปขังเพื่อเตรียมดินให้ชุ่มชื้น ช่วยให้อ้อยแตกกอดี ลำอ้อยโต เพิ่มผลผลิต จากปกติไร่ละ 10 ตัน เพิ่มเป็นไร่ละ 12 ตัน และยังช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย จากเดิมต้องใส่ปุ๋ยเคมีถึง 3 กระสอบต่อไร่ ตอนนี้ลดการใช้เคมีเหลือเพียง 1 กระสอบต่อไร่เท่านั้น
“ปีนี้แล้งมาก แต่เราได้น้ำจาก CPF มาช่วย ในขณะที่พื้นที่อื่นต้องเจอกับภัยแล้ง แต่เราผ่านมาได้ตลอดทุกปี ผลผลิตยังเพิ่มขึ้นด้วย โครงการนี้จึงช่วยเกษตรกรให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ทั้งต้นทุนค่าน้ำมันและค่าปุ๋ยเคมี เมื่อลงทุนน้อยลงกำไรก็มากขึ้นตามไปด้วย ขอบคุณ CPF ที่จัดโครงการดีๆ แบบนี้มาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่ผ่านมามีคนมาขอคำแนะนำมากมาย บอกว่าอยากได้น้ำบ้าง ซึ่งบริษัทฯ ก็ยินดีปันน้ำปุ๋ยให้ อยากให้ทำโครงการนี้ต่อเนื่องตลอดไป” คุณวรวิท กล่าว
โครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ช่วยสร้างประโยชน์แก่เกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงานของ CPF ทั้งในแง่การแก้ปัญหาภัยแล้งมานานกว่า 20 ปี และยังช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมจากการที่เกษตรกรลดใช้ปุ๋ยเคมี และถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำในองค์กรของซีพีเอฟ ภายใต้หลักการ 3Rs ด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ (reduce) นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) สะท้อนกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างแท้จริง