Photo by AFP
โลกกำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าที่คิด และคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่จะร้อนที่สุดในประวัติการณ์ โดยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 5 ปีนี้ ประกอบกับที่คาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในประเทศไทย ช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป
ส่งผลให้โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดจากภาวะโลกร้อนในระยะอันใกล้ และยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ในหลายประเด็นยังคงมีความคลุมเครือ
ขณะที่เอกชนจำนวนมากยังไม่ปรับตัว จึงเป็นโจทย์แก่รัฐบาลให้ต้องเร่งสร้างความชัดเจนเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองโจทย์สำคัญที่ควรเร่งดำเนินการและวางรากฐานของประเทศ ดังนี้
ภาคเอกชนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมและความตื่นตัวเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม
ผลสำรวจการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีผู้ประกอบการที่ตอบแบบสอบถามเพียง 25% ที่เริ่มมีการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในจำนวนดังกล่าวกว่าครึ่ง (55%) ยังไม่ได้ดำเนินการวัดและจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์จากการดำเนินงานของบริษัท
สะท้อนหนทางและการต้องลงมือและลงแรงอีกมากจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วยกัน
ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมาย net zero ขั้นต่ำ ลงในระดับอุตสาหกรรมให้ชัดเจน จากที่ไทยเคยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2563 จำนวน 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าไทยมีเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2608 ตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในเวทีการประชุม COP26
ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีโรดแมปในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังคงมุ่งเน้นที่ภาคพลังงาน และผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก
แต่เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามที่ให้คำมั่นไว้ เป็นโจทย์ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ต้องบูรณาการให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยอาจเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อย emission ขั้นต่ำที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และสร้างแผนงานที่ชัดเจนและร่วมกันทำงานระหว่างหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน
ภาครัฐควรเร่งวางแนวทางขับเคลื่อนภาคธุรกิจ รับมือกับโจทย์ด้านนโยบาย/มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นจากต่างประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการดำเนินโครงการประเภท decarbonization หรือ clean technology บ้างแล้ว เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ประเด็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ มาตรการสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศที่เข้มงวดขึ้น เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่จะเริ่มให้รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียู ในเดือน ต.ค. 2566 และเตรียมเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนในปี 2569
แต่ปัจจุบันยังรอภาพการสื่อสารถึงนโยบายจากภาครัฐเพื่อมาดูแลกลุ่มผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ ถึงประเด็นว่าควรต้องดำเนินการเช่นไร ด้วยมาตรฐานใด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมรายใหญ่ในการเป็นห่วงโซ่การผลิตสามารถปรับตัวตามเกณฑ์มาตรการสิ่งแวดล้อมให้ทัน และรักษาส่วนแบ่งตลาดส่งออกไว้ได้
ภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อจูงใจและชดเชยผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาด แม้จะเป็นโจทย์ที่ท้าทายต่อภาระทางการคลัง เนื่องจากการมุ่งเน้นให้ภาคพลังงานหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น อาจส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผ่านไปยังค่าไฟของประชาชน
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าการดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการดำเนินการเป็นสิ่งแรก ๆ ตามด้วยการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นหากมีนโยบายสนับสนุนที่จูงใจมากพอก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถเข้าถึงมาตรการของภาครัฐได้มากกว่าธุรกิจ SMEs สอดคล้องกับผลสำรวจความคาดหวังต่อการดำเนินการของภาครัฐ ที่ภาคเอกชนที่ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (96%) ต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการที่จูงใจมากพอ เช่น กองทุนสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจที่มีการดำเนินการด้าน ESG ตามด้วยการบูรณาการหน่วยงานกำกับดูแลแบบรวมศูนย์ (69%) และเพิ่มการแข่งขันของบริการที่ปรึกษาและประเมินผลด้าน ESG เพื่อให้มีค่าบริการถูกลง (49%)
สำหรับมาตรการที่ได้ออกมาแล้ว อาจต้องลดข้อกำหนดที่อาจไม่เอื้อต่อธุรกิจ SMEs เช่น มาตรการยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษีของบีโอไอ ที่มีการกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตและเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่อาจเอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับให้แรงจูงใจผู้ประกอบการเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนหรือการทำธุรกิจไปสู่มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น เช่น ให้สิทธิการลดหย่อนทางภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อสนับสนุนให้เกิดการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกในทุกระดับ
และภาครัฐอาจพิจารณาให้การสนับสนุนเงินทุนที่นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกิจการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า กิจการด้านพลังงานใหม่ เช่น ไฮโดรเจน แอมโมเนีย กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับตัวอย่างของมาตรการในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ แคนาดา และอียู
โจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลใหม่ในการชั่งน้ำหนักและหาความสมดุลในการดำเนินการ เพื่อยกมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับธุรกิจไทย เนื่องจากยิ่งช้า ก็จะยิ่งกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจไทย และคุณภาพชีวิตของประชากรไทย
ที่มา
คอลัมน์ : ระดมสมอง ผู้เขียน : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย