เงินเฟ้อไทยลงเร็วจริงหรือไม่? หลังพาณิชย์เผย CPI โตต่ำกว่ากรอบ 2 เดือนติด แบงก์ชาติจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยหรือยัง?

กระทรวงพาณิชย์เผย อัตราเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน หลังเพิ่มขึ้น 0.53% ในเดือนพฤษภาคม นับเป็นการโตต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 1-3% เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า เงินเฟ้อของไทยลงเร็วเกินไปหรือไม่ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือยัง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งออกของไทยที่ติดลบหลายเดือนติดต่อกัน และความไม่แน่นอนทางการเมือง

 

ทำไมเงินเฟ้อไทย ‘ลงเร็ว’?

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics กล่าวว่า การลดลงของอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนนี้เป็นไปตามการลดลงของราคาพลังงาน ซึ่งกินสัดส่วนอยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อไทยประมาณ 15% โดยราคาน้ำมันโลกที่ลดลงในช่วงนี้ก็เป็นตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้อีกปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาลดลงอย่างมากคือ ฐานในปีก่อนที่สูง โดย ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า “ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมเราจะเห็นเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากฐานที่สูงในปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามในยูเครน นำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นในช่วงนั้น”

สอดคล้องกับนริศที่ระบุว่า ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2022 ฐานเงินเฟ้อของไทยได้ขยับขึ้นไปสูง ก่อนจะปรับลดลงมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลง ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อไทยอาจเริ่มปรับกลับขึ้นมาในครึ่งหลังของปีนี้

 

ไทยจะกลับสู่ยุคเงินเฟ้อต่ำ? หลัง CPI โตไม่ถึงกรอบเป้าหมาย 2 เดือนติดต่อกัน

ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมา ‘จะเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราวเท่านั้น’

โดยการชะลอตัวของ CPI ในเดือนพฤษภาคม ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าไฟทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อ MoM ของเดือนพฤษภาคมติดลบ ต่างจากเดือนนี้ที่ MoM กลับเป็นบวกแล้ว จึงสามารถอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ว่า ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ย่ำแย่ต่อเนื่องหรือกำลังซื้อจะหายไป และเป็นผลมาจากกรณีฐาน

“ผมไม่คิดว่าเงินเฟ้อไทยจะอยู่ต่ำกว่ากรอบ 1-3% ลากยาวต่อไป แต่จะเห็นพัฒนาการของเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นได้ในช่วงถัดไป หรือตั้งแต่เดือนสิงหาคม” อมรเทพกล่าว

 

เงินเฟ้อต่ำสะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังหยุดชะงักหรือไม่

ตัวเลขเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้บางฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาอุปสงค์ต่ำ หรือเป็นสัญญาณถึงปัญหาบางอย่างหรือไม่

โดยนริศมองว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ค่อนข้างต่ำในช่วงที่ผ่านมาเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวมากกว่า เนื่องจากยอดการบริโภคในประเทศยังไปได้ค่อนข้างดี แม้อาจเห็นทิศทางการชะลอตัวในบางกลุ่มสินค้า เช่น ยอดขายรถใหม่ และยอดซื้อสินค้าราคาสูง

 

นโยบายการเงินไทยหลังจากนี้จะไปทางไหน?

หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดออกมา นริศมองว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของไทยจะเริ่มยากขึ้น ท่ามกลางคาดการณ์ที่ว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยอาจหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก แม้ภาคการท่องเที่ยวยังดูไปได้ดีก็ตาม

“ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม เราจะเห็นภาพการส่งออกชัดเจนขึ้น และอาจรู้ว่าเศรษฐกิจอาจไม่โตแรงเท่าที่ประเมินกันไว้ตอนแรก หรืออาจโตไม่ถึง 3% เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้มารวมกันจะเห็นภาพว่า เงินเฟ้ออาจไม่ได้มีแรงกดดันมาก ทำให้ กนง. ยังมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่ไม่ได้มาจากเหตุผลเรื่องเงินเฟ้อหรือเศรษฐกิจ แต่มาจากเหตุผลหลักการเก็บกระสุนหรือสร้าง Policy Space ไว้เผื่อรองรับวิกฤตที่อาจมาถึงข้างหน้ามากกว่า” นริศกล่าว

โดยเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงทำให้เหตุผลในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. มีน้อยลง ทำให้ ttb analytics มองว่า อัตราดอกเบี้ยไทย ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 2.25-2.5% โดยเหตุผลหลักในการขึ้นคือ การสร้าง Policy Space

สอดคล้องกับความเห็นของอมรเทพที่กล่าวว่า “ในกรณีฐาน (Base Case Scenario) ผมมองว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ครั้งเดียวสู่ระดับ 2.25% ในปีนี้ แต่ไม่จำเป็นต้องขึ้นในรอบเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ ส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคสินค้าชิ้นใหญ่ในประเทศ”

 

ประเมินความเสี่ยงด้านบวก-ลบปีนี้ถึงปีหน้า

วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวในวันนี้ (5 กรกฎาคม) ว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 3 และครึ่งหลังของปีนี้จะขยายตัวเล็กน้อย

 

โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวเล็กน้อย ได้แก่

  1. ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มทรงตัว
  2. การลดลงของราคาเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหาร
  3. ฐานราคาไตรมาส 3 และช่วงที่เหลือของปี 2565 อยู่ในระดับสูง
  4. ราคาสินค้าบางชนิดมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอิทธิพลของภัยแล้งและเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ราคาผันผวน ได้แก่

  1. สภาพอากาศที่คาดว่าจะมีภัยแล้งรุนแรงกว่าที่คาด
  2. การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาค
  3. มาตรการของภาครัฐต่างๆ
  4. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์​

ขณะที่ณัฐพรมองว่า หากปัจจัยเรื่องฐานจบไป เข้าสู่ภาวะมีเสถียรภาพ ขณะที่ปัจจัยภายนอกไม่มีความรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน การเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อไทยก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะในปีหน้าอาจต้องจับตาดูนโยบายของภาครัฐ เช่น ค่าไฟ ค่าแรง รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ