นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 66) พบว่า สินค้ากุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็ง เป็นสินค้าในกลุ่มสินค้าประมงที่มีศักยภาพและน่าจับตามอง รวมถึงการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่งออกไปตลาดคู่ค้า FTA มีมูลค่า 177.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วน 71.2% ของการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี อาทิ จีน 90.1% เกาหลีใต้ 44% ฮ่องกง 6.2% มาเลเซีย 27.7% และเวียดนาม 174.4% ขณะที่การส่งออกกุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็ง ไปกลุ่มประเทศที่ไทยไม่มี FTA หดตัว 31.6%
สำหรับในปี 2565 ไทยส่งออกกุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็ง เป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 3 ของอาเซียน โดยไทยส่งออกกุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็งไปตลาดโลก มูลค่า 699.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.1% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA มูลค่าถึง 437.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.7% ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเวียดนาม
นางอรมน กล่าวว่า ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับคู่ค้า 18 ประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกกุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็งของไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคู่ค้า FTA 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีกุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็งนำเข้าจากไทยทุกรายการแล้ว เหลืออีกเพียง 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ ยกเลิกการเก็บภาษีกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งบางรายการ แต่ยังคงเก็บโควตาภาษีกุ้งน้ำเย็น และกุ้งอื่นๆ แช่เย็นแช่แข็ง โดยเก็บภาษีในโควตาที่ 0% และภาษีนอกโควตา 20% ส่วนอินเดีย ยกเลิกการเก็บภาษีกุ้งแช่เย็น-แช่แข็งบางส่วน แต่ยังคงเก็บภาษีกุ้งร็อคลอบสเตอร์ กุ้งล็อบสเตอร์ กุ้งนอร์เวย์ล็อบสเตอร์แช่เย็น และกุ้งน้ำเย็น/อื่นๆ 30%
“กรมฯ เดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้า เปิดตลาดสินค้ากุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็งให้ไทยเพิ่มเติม ผ่านการทบทวน FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การสรุปผล FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา และการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างเจรจา FTA กับหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สมาคมการค้าเสรียุโรป แคนาดา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทยในตลาดโลก” นางอรมน กล่าว
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาความต้องการของตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA เป็นเครื่องมือขยายการส่งออก โดยเฉพาะตลาด จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่กลุ่มชนชั้นกลางรายได้สูง มีแนวโน้มต้องการสินค้าอาหารประเภท Luxury และอาหารทะเลเพิ่มขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์