โลกการทำงานในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยสิ่งที่คนวัยทำงานทั่วโลกสัมผัสได้ คือหลายบริษัทหันไปทำงานแบบผสมผสาน สลับระหว่างเข้าบริษัทและทำงานจากบ้าน (Hybrid Workspace)
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประโยชน์ของการที่บ้านช่วงสถานการณ์โควิด และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทยุคฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ
อีกสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับ Soft Skill หรือทักษะในการเข้าสังคมต่าง ๆ มากขึ้น ขณะที่ทักษะเชิงเทคนิค หรือ Hard Skill นั้นก็เน้นไปที่ทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น เพราะคนวัยทำงานต้องทำงานกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่ระบบอัตโนโนมัติ
อุปกรณ์ดิจิทัลไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) เช่น ChatGPT กันมากขึ้นนั่นเอง
ในส่วนของ Soft Skill มี 3 สิ่งที่จำเป็นในยุคนี้ เริ่มจากปรับตัวง่าย เพราะเทรนด์การทำงานทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างมากจากในอดีต เปิดโอกาสให้คนวัยทำงานสามารถทำงานได้จากทุกที่ และไม่ต้องนั่งประจำอยู่แต่โต๊ะในออฟฟิศอีกต่อไป
นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาความรู้ความสามารถและยกระดับตัวเอง (Upskilling) อยู่เสมอเพื่อไม่ให้ถูก AI แย่งงาน
Soft Skill ข้อถัดมาคือ การเห็นอกเห็นใจซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและไม่ตัดสินใครแบบเหมารวม เพราะโลกทุกวันนี้มีความหลากหลายกว่าในอดีตอย่างมาก ทั้งเรื่องเพศวิถีซึ่งพัฒนาสู่ความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะหญิง-ชายอีกต่อไป
ขณะที่ช่วงวัยของเพื่อนร่วมงานก็กว้างอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยมีตั้งแต่คน Babyboom และ Gen X ซึ่งอายุตั้งเกือบ ๆ 60 หรือ 60 ปีต้น ๆ ลงมาที่ 40 ปีต้น ไปจนถึงรุ่นเด็กสุดอย่าง Gen Z ที่มีระหว่าง 18-24 ปี
ดังนั้น เพื่อให้งานลุล่วง นอกจากต้องปรับตัวเข้าหากันแล้ว คนทุกรุ่นในบริษัทจึงต้องเห็นอกเห็นใจซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจกันและกันด้วย
ข้อสุดท้ายคือ ตอบสนองไว เพราะเทรนด์การทำงานเป็นแบบ Hybrid Workspace ที่บางวันก็ทำงานในออฟฟิศ บางวันก็ทำงานอยู่บ้าน จึงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและแอปต่าง ๆ เพื่อการสื่อสารและติดตามความคืบหน้าของอีกฝ่าย
ดังนั้น แต่ละฝ่ายจึงต้องตอบสนองไวเพื่อให้ยังต่อกันติดและงานคืบหน้าไปจนปิดจ็อบได้
BBC วิเคราะห์ถึง Soft Skill ของคนวัยทำงานยุคนี้ผ่านทัศนะของบรรดาผู้ที่ทำงานฝ่ายบุคคลว่า จะช่วยกระชับสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ทำให้เข้ากันได้ง่ายและเร็วขึ้น หรือที่เรียกกันว่าเคมีเข้ากันได้
และอาจเป็นแต้มต่อช่วยให้คว้าตำแหน่งที่ต้องการในบริษัทในฝันเหนือผู้สมัครคนอื่น ๆ หากมี Hard Skill และผลการเรียนใกล้เคียงกัน /bbc
ที่มา Marketeer