ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย หลังจากที่ประเทศไทยฟื้นตัวจากสภาวะฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 จะเห็นได้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับมาเติบโตขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงทศวรรษที่ผ่านมาวิถีการดำเนินชีวิต (Life Style) ของคนเริ่มเปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเป็นทางการ อสังหาริมทรัพย์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตอบโจทย์ทั้งการทำธุรกิจและกิจกรรมการอยู่อาศัย ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ที่ต้องทันต่อเหตุการณ์ สอดคล้องและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอาคารในแต่ละประเภทได้ เช่น อาคารเชิงพาณิชย์ ได้แก่ อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม โรงพยาบาล โรงแรมต่าง ๆ หรือ อาคารที่พักอาศัย ได้แก่ คอนโดมิเนียม หมู่บ้าน อพาร์ตเมนท์
การพัฒนาโครงการในข้างต้น จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เพื่อเป็นการผลักดันในภาคธุรกิจต่อยอดไปยัง
ภาคเศรษฐกิจของประเทศ ที่ไม่เป็นเพียงการลงทุนแค่ภายในประเทศ แต่ยังครอบคลุมถึงนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งด้านการพัฒนาโครงการ การบริหารจัดการหลังการขายหรือเมื่อเปิดใช้งานอาคารแล้ว การซื้อ-ขาย ปล่อยเช่าหรือการเกร็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ โดยการเลือกลงทุนนั้นนักลงทุนจะต้องมีความมั่นใจและเห็นถึงการเจริญเติบโตของธุรกิจ
พีไอเอ็ม เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญดังกล่าว จึงพัฒนาหลักสูตรสาขาการจัดการอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอาคาร (Real Estate and Property Management) ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ ในการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ครอบคลุมธุรกิจตามอายุอาคารทั้ง 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ช่วงคิดริเริ่มโครงการ ช่วงที่ 2 ออกแบบโครงการ ช่วงที่ 3 ก่อสร้างโครงการ และช่วงที่ 4 การใช้งานอาคาร สำหรับงานหลังเปิดใช้อาคาร เช่น การจัดสรรพื้นที่เข้าใช้อาคาร การบริหารจัดการอาคาร การดูแลรักษาอาคาร การปรับผังการใช้พื้นที่ การเปลี่ยนผู้ใช้ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการผู้ที่มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินโครงการและธุรกิจทั้งสิ้น และยังจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการที่หลากหลายในบริบทต่าง ๆ ของอาคารหรือของอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ ให้อยู่ภายใต้ความสะดวกสบาย ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตอบสนองต่อกิจกรรมการใช้งานอาคาร และความคุ้มค่ากับการลงทุนภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แต่ละประเภท
อาจารย์ ชิษณุชา ขุนจง หัวหน้าสาขาการจัดการอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอาคาร คณะวิทยาการจัดการ
พีไอเอ็ม กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามภาวะการณ์และทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ยุคสมัยทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัว การพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดสะท้อนความต้องการของกลุ่มลูกค้า หลักสูตรฯ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรายวิชาและรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันสมัยและตอบรับกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การจัดการอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอาคาร ไม่เพียงแต่เป็นการบริหารจัดการอาคารให้สามารถตอบสนองต่อการใช้งานอาคาร ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งานอาคารเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงในแง่มุมของเจ้าของอาคารหรือผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในด้านของผลตอบแทนจากการลงทุน การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี การเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับอาคาร และการตอบแทนสังคมด้วยการจัดการแบบยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างสภาพชุมชนและสังคมที่น่าอยู่ อีกด้วย หลักสูตรจึงได้เพิ่มเนื้อหาเหล่านี้เข้าไปในรายวิชาการเรียนการสอนของหลักสูตร เพื่อให้ครอบคลุมทั้งฝั่ง Cost Center และ Profit Center ในบริบทของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท
โดยเรียนรู้ผ่านการเรียนในห้องเรียน ควบคู่การฝึกปฏิบัติงานแบบ Work-based Education พร้อมการบรรยายพิเศษ การระดมความคิดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาเกิดการสืบค้นข้อมูล คิดวิเคราะห์ วางแผน หาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาทั้งทักษะและความรู้ จากการนำหลักการและทฤษฎีมาประยุกต์ใช้กับการทำงานจริง ซึ่งการฝึกปฏิบัติงานจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 6 ครั้ง
• ครั้งที่ 1 ฝึกที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น นักศึกษาจะได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาฉพาะหน้า Service Mind และดูเรื่องวัสดุศาสตร์ การจัดฟังก์ชั่นต่างๆ ภายในร้าน การบำรุงรักษาอุปกรณ์ในร้านเบื้องต้น
• ครั้งที่ 2 ฝึกด้าน Facility Service งานรักษาความสะอาด, งานรักษาความปลอดภัย สวนและภูมิทัศน์
• ครั้งที่ 3 ฝึกด้าน Operation & Maintenance งานระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร ประเภทอาคารพาณิชย์ (Commercial)
• ครั้งที่ 4 ด้าน Operation & Maintenance งานระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร ประเภทอาคารที่อยู่อาศัย (Residential)
• ครั้งที่ 5 และ 6 นักศึกษาสามารถเลือกสถานประกอบการที่จะฝึกได้เองและทำวิจัย แบ่งออกเป็น 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ รับผิดชอบการบริหารจัดการในภาพรวมองค์กร / อาคาร และ ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ เน้นทำงานแบบวงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) /วางแผน ติดตาม ประเมินผล ซึ่งทั้งหมดเพื่อให้ครอบคลุมบริบทของการจัดการและประเภทของอสังหาริมทรัพย์ เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้กายภาพอาคาร งานบริการอาคาร งานระบบวิศวกรรม ไปจนถึงการบริหารจัดการทั้งในรูปแบบของพื้นที่ภายในอาคาร
กรณีตัวอย่างของการฝึกปฏิบัติงาน ณ True Digital Park เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการฝึกประสบการณ์ของนักศึกษา ตอบโจทย์หลักสูตรด้วยความครบครันในธุรกิจอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้านสำนักงานรวมไปถึงคอนโดมิเนียมและที่พักอาศัย ผสมผสานพื้นที่ ใน 3 ส่วนหลักคือ Work Space, Lifestyle Space, Living Space มีการบริหารจัดการที่ครบวงจรตามประเภทของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น ธุรกิจออฟฟิศ, ไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์, ธุรกิจรีเทล และคอมมูนิตี้มออล์ยุคใหม่ทันสมัยอย่าง Whizdom 101 แลนด์มาร์กแห่งใหม่ย่านปุณณวิถี และธุรกิจที่พักอาศัย เช่น Whizdom Essence Sukhumvit คอนโดมิเนียมระดับ Hi-end บนถนนสุขุมวิท รวมไปพื้นที่สีเขียวภายในอาคารและภายนอกอาคาร
ดวงหฤทัย ไสวงาม บัณฑิตพีไอเอ็ม รุ่น 9 ปัจจุบันทำงานตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ธุรการโครงการ (Building Administrator) ประจำคอนโดมิเนียม Whizdom Essence Sukhumvit กล่าวว่า “ตอนแรกยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจ เรื่องอสังหาฯ แต่ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มาเรียนก็ถือว่าเปิดโลกใบใหม่ให้กับตัวเองมากๆ ได้ความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่สำคัญได้เรียน บริหาร วิศวะ และสถาปัตย์ ตอบโจทย์ทุกศาสตร์ที่อยากเรียน สำหรับด้านฝึกปฏิบัติงานก็ได้ประสบการณ์ครบวงจร เช่น ชั้นปีที่ 1 ได้ฝึกปฏิบัติในตำแหน่งนักธุรการ ดูแลแม่บ้านและเจ้าหน้าที่รปภ. ,ชั้นปีที่2 ฝึกด้านวิศวกรรม ดูแลอาคาร ระบบซ่อมต่างๆ ทั้งแอร์ แก๊ส ไฟ, ชั้นปีที่ 3 ด้านนิติบุคคลในคอนโดที่เชียงใหม่ ได้ดูแลทุกอย่างตั้งแต่งานเอกสาร งานประชาสัมพันธ์ และดูแลแม่บ้าน เจ้าหน้าที่รปภ. ส่วนปีสุดท้ายได้ฝึกในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ลักซูรี่มากขึ้น อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกบ้านระดับ Hi-end จึงต้องมี ความรับผิดชอบและบริหารจัดการส่วนต่างๆ ให้มากกว่าเดิม”
นักศึกษาและบัณฑิต จะสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย เป็นได้ทั้งนักบริหารจัดการ นักพัฒนา-เพิ่มมูลค่า นักการตลาดและการขาย นักบริหารจัดการพื้นที่ทำงาน รวมถึงผู้จัดการอาคาร หรือปฏิบัติงานทั้งในสถานประกอบการที่เป็นเจ้าของกิจการ (Landlord) กลุ่มพัฒนาอาคาร/ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Developer) และกลุ่มผู้ให้บริการงานบริหารจัดการอาคาร (Service Provider) ปฏิบัติงานในอาคารประเภทต่าง ๆ เช่น อาคารสำนักงาน อาคารศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม หมู่บ้าน โรงพยาบาล โรงแรม ศูนย์ประชุม สถานศึกษา และสถานที่ราชการ ซึ่งแตกต่างจากหลักสูตรเดิมที่เน้นการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ให้คงอยู่ในสภาพที่ดี หรือเน้นการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายเป็นหลัก โดยการปรับหลักสูตรใหม่นี้ได้มีการนำเนื้อหาในส่วนของการบริหารจัดการรายได้ การสร้างและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน การขาย-การปล่อยเช่า-การตลาด รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืนเข้ามา เพื่อให้นักศึกษาและบัณฑิตมีทั้งความรู้และทักษะทางด้านวิชาชีพ ที่ทันต่อสถานการณ์ของอสังหาริมทรัพย์ไทยและตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งนักศึกษาได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานกับองค์กรชั้นนำของประเทศ เช่น CP Land, JLL, AP (Thailand), Goldenland, บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป, บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด แลโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เกี่ยวกับหลักสูตร
• ชื่อภาษาไทย : สาขาการจัดการอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอาคาร
ชื่อภาษาอังกฤษ : Real Estate and Property Management
ชื่อย่อ : RPM
• หลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในไทย ที่สอนเรื่องการจัดการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างครบวงจร
• Learn in Depth
สอนเรื่องการจัดการตามลักษณะธุรกิจของอาคาร 2 ประเภท ได้แก่
– Residential – อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย เช่น คอนโดมีเนียม หมู่บ้านจัดสรร อพาร์ตเมนต์ให้เช่า
– Commercial – อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน
Cr:Pr PIM