กลุ่มนักวิเคราะห์ระบุว่า ค่าเงินของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในปีนี้จะแข็งแกร่งหรืออ่อนแอนั้นขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยนักวิเคราะห์ที่มีมุมมองเชิงบวกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของจีนจะเติบโตแข็งแกร่งเพียงพอที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานระบุว่า สกุลเงินต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากการค้าที่ซบเซา และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่มความน่าดึงดูดให้กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเฟดใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเศรษฐกิจจีนขยายตัวขึ้นหลังผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 บริษัทมิซูโฮ ซิเคียวริตีส์จึงคาดการณ์ในรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า สกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย, สกุลเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย, สกุลเงินบาทไทย และสกุลเงินเปโซฟิลิปปินส์ จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี 2566
นายมาซาฟูมิ ยามาโมโตะ หัวหน้านักกลยุทธ์ด้านสกุลเงินของบริษัทมิซูโฮ ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า “การเคลื่อนไหวของค่าเงินอาเซียนมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับเศรษฐกิจจีนและค่าเงินหยวน” พร้อมระบุเสริมว่า “หากเศรษฐกิจจีนขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ การทำการค้ากับจีนก็จะกระเตื้อง ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนค่าเงิน”
แต่ไม่ใช่นักวิเคราะห์ทุกคนจะมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจจีน จีนเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของประเทศขยายตัว 6.3% ในไตรมาสที่ 2/2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เมืองเซี่ยงไฮ้เผชิญมาตรการล็อกดาวน์เป็นส่วนใหญ่ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ต่ำกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้
นายโทรุ นิชิฮามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันไดอิจิ ไลฟ์ ระบุว่า “สกุลเงินเหล่านี้อาจอ่อนค่าแตะจุดต่ำสุดแล้ว แต่จะยังอ่อนค่าต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ซบเซาของจีนและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ค่อนข้างต่ำในประเทศเหล่านี้ “
นายโคตะ ฮิรายามะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านตลาดเกิดใหม่จากเอสเอ็มบีซี นิกโกะ ซีเคียวริตีส์ คาดการณ์ว่า “ดุลการค้าของทั้ง 4 ประเทศจะไม่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในเร็ว ๆ นี้” แม้ว่าเขาจะยอมรับว่า “สถานการณ์ดุลการค้าของทั้ง 4 ประเทศส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจจีน”
นักวิเคราะห์กล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับสกุลเงินอาเซียนคือ การเมืองภายในประเทศ โดยความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในไทย หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม อาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่การเลือกตั้งระดับรัฐในมาเลเซียในเดือนส.ค. ก็ถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อค่าเงินในประเทศ
ทั้งนี้ มิซูโฮ ซิเคียวริตีส์คาดว่า การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของจีนจะช่วยหนุนค่าเงินบาทไทย ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มมากขึ้นและการทำการค้ากับจีนเพิ่มมากขึ้นจะผลักดันค่าเงินริงกิตของมาเลเซียให้สูงขึ้น โดยนายยามาโมโตะระบุว่า “การส่งออกของมาเลเซียจะค่อย ๆ กระเตื้องขึ้นพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์