ปลายเดือนที่ผ่านมา (20 มิ.ย.) หน่วยงาน AccountAbility องค์กรผู้กำหนดมาตรฐานและให้คำปรึกษาด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) ระดับโลก ที่ก่อตั้งมากว่า 30 ปี ได้ออกรายงานที่มีชื่อว่า “7 Sustainability Trends 2023 Report” โดยเนื้อหาสะท้อนให้เห็นภูมิทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการประมวลแนวโน้มที่สำคัญด้าน ESG ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดวาระทางธุรกิจนับจากนี้ไป
ข้อมูลในรายงานฉบับนี้ จะช่วยให้องค์กรใช้วางแผนเชิงกลยุทธ์ สนับสนุนการตัดสินใจ และสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการปรับแนวกลยุทธ์ขององค์กรให้สอดคล้องและเท่าทันกับประเด็นความยั่งยืนที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนการรับมือกับโอกาสและความเสี่ยงในเชิงรุก รองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
อนึ่ง แนวโน้มความยั่งยืนในรายงานฉบับดังกล่าว ประมวลขึ้นจากการวิจัยและการทำงานร่วมกับองค์กรในหลายภาคส่วน ทั้งกิจการในภาคบริการทางการเงิน ภาคพลังงานและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ภาคสุขภาพและเภสัชภัณฑ์ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค ภาคโทรคมนาคมและเทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานในภาครัฐและภาคประชาสังคม ฯลฯ ครอบคลุมในหลายภูมิภาค ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง และเอเชีย
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ให้บริการงานให้ความเชื่อมั่นรับอนุญาตในประเทศไทย ที่รับรองโดย AccountAbility มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ได้เรียบเรียงเนื้อหาในส่วนที่เป็น 7 แนวโน้มความยั่งยืน โดยย่อ เพื่อนำมาเผยแพร่ ดังนี้
1. Navigating the Net Zero landscape
หาเส้นทางสู่ภูมิทัศน์ (การปล่อยก๊าซเรือนกระจก) สุทธิเป็นศูนย์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้กลายเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนและมีนัยสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่งที่สังคมต้องเผชิญ รวมถึงเป็นได้ทั้งความเสี่ยงสำคัญต่อธุรกิจที่เพิกเฉย และเป็นโอกาสชัดแจ้งต่อกิจการที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการขจัดคาร์บอนให้มีค่าสุทธิเป็นศูนย์ โดยบริษัทที่ต้องการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันและยังคงดึงดูดกลุ่มผู้ลงทุน ต้องแสดงให้เห็นถึงแนวทางการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากภายนอก ควบคู่กับแผนงานกลยุทธ์ที่ปฏิบัติได้จริง
2. Stakeholder activism is getting louder
ขบวนเคลื่อนไหวฝั่งผู้มีส่วนได้เสีย ส่งเสียงดังขึ้น
ธุรกิจต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม มีการผลักดันให้กิจการต้องแถลงจุดยืนและแสดงความคืบหน้าในทางปฏิบัติต่อชุดประเด็น ESG ที่เกี่ยวข้อง โดยการแสดงภาวะผู้นำของกิจการ ๆ ควรตระหนักถึงการรักษาสมดุลแห่งประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับพนักงานไปจนถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียซึ่งผลักดันให้องค์กรดำเนินการตามบทบาทที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ กิจการพึงดำเนินการสานสัมพันธ์แต่เนิ่น ๆ และอย่างต่อเนื่องกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแนวทางให้สอดรับกันอย่างสูงสุดทั้งในกลุ่มพนักงาน ลูกค้า ผู้ลงทุน ฯลฯ
3. Geopolitics: The new “G” in ESG
ภูมิรัฐศาสตร์ กลายเป็นประเด็นใหม่ด้านธรรมาภิบาล
ในภาวการณ์หลังยุคโลกาภิวัตน์ ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญภายใต้กรอบ ESG เป็นประเด็นที่ถือเป็นความเสี่ยงและปัจจัยความไม่แน่นอนทางธุรกิจ จนกระทั่งกลายเป็นข้อพิจารณาภาคบังคับในการประเมินและในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงควรผนวกความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เข้าไว้ในกรอบการจัดการความเสี่ยงของกิจการ เพื่อให้สามารถมอบหมายความรับผิดชอบในการจัดการตามตัวแบบแนวป้องกัน 3 ด่าน (Three lines of defense model) และหลักการหลีกเลี่ยง การบรรเทา และการจัดการความเสี่ยงของกิจการ
4. Building an effective, future-focused board
สร้างคณะกรรมการสำหรับวันหน้า ที่มีประสิทธิผล
คณะกรรมการบริษัทถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่าง (Tone at the top) ริเริ่มให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร สร้างเป็นตัวแบบของค่านิยมบริษัท และข้อปฏิบัติที่ดีทางธุรกิจ โดยกรรมการแต่ละท่านเปรียบเสมือน “จุดเชื่อมโยง” ในสายโซ่ร้อยระหว่างค่านิยมหลักของบริษัทกับผลการดำเนินงานท้ายสุดทางธุรกิจ ที่ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการควรมีความหลากหลาย มีสมรรถนะและประสบการณ์ที่เอื้อต่อหน้าที่ทางธุรกิจและบทบาทในอุตสาหกรรม สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทจะแข็งแกร่งได้ ตราบเท่าที่มีกรรมการที่เข้มแข็ง ในการนำองค์กร
5. Next generation ESG disclosure and reporting
โฉมหน้าการรายงานและการเปิดเผยข้อมูล ESG รุ่นถัดไป
การรายงานความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูล ESG เป็นกติกาทางธุรกิจที่กลายมาเป็นข้อกำหนดภาคบังคับเพิ่มเติมในตลาดการค้าขนาดใหญ่สุดของโลก การเปิดเผยข้อมูล ESG ที่ดี มิได้หมายถึงการเปิดเผยข้อมูลให้ได้ปริมาณมาก แต่ขาดซึ่งสาระสำคัญ เพราะท่ามกลางแรงกดดันที่ให้กิจการต้องรายงาน ทำให้เกิดมาตรฐานข้อแนะนำเป็นจำนวนมาก ธุรกิจจึงควรพิจารณาเลือกเปิดเผยข้อมูลตามแบบแผนที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ โพรไฟล์ และวุฒิภาวะ (Maturity) ด้าน ESG ขององค์กร และเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมายที่มีผลบังคับกับกิจการ
6. The road to a sustainable value chain
เส้นทางสู่สายโซ่คุณค่าที่ยั่งยืน
องค์กรจำเป็นต้องเสาะหาวิธีการแบบองค์รวมในการขับเคลื่อนสายอุปทานที่ยั่งยืน โดยผนวกหลักการด้าน ESG อันก่อให้เกิดภาวะพร้อมผันและความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การจัดหาที่ยั่งยืน จวบจนการส่งมอบผลิตภัณฑ์ถึงมือลูกค้า อาทิ การสรรหาวัสดุต้นทาง ข้อปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ส่งมอบ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขตที่ 3 ทั้งนี้ กิจการควรมีการสานสัมพันธ์เชิงรุกและการทำงานร่วมกันกับคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับทราบถึงความคาดหวังในด้าน ESG โดยมีเกณฑ์ชี้วัดการดำเนินงานและการให้คุณ (Reward) แก่คู่ค้าที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์อย่างเหมาะสม
7. Nature-based assets will drive valuations
สินทรัพย์ธรรมชาติ จะเป็นตัวกำหนดมูลค่ากิจการ
ปัจจัยนำเข้าที่เป็นวัตถุดิบสำคัญต่อการผลิตและเป็นการบริการทางระบบนิเวศที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ จัดเป็นสินทรัพย์ธรรมชาติที่ใช้กำหนดมูลค่ากิจการและใช้ประเมินสถานะความอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาว ในทำนองเดียวกัน ผลจากกิจกรรมทางธุรกิจก่อให้เกิดจุดพลิกผันของการดำรงอยู่ทางธรรมชาติ อาทิ ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว การพังทลายของพืดน้ำแข็ง การแผ้วถางป่าเขตร้อน รวมทั้งผลกระทบต่อทุนธรรมชาติอื่น ๆ เช่น ดินและน้ำ ตลอดจนผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เดิมมิได้ถูกบันทึกอยู่ในงบดุลของกิจการ จะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานความยั่งยืนและการกำหนดมูลค่าของกิจการ
หน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่สนใจข้อมูลแต่ละแนวโน้มความยั่งยืนอย่างละเอียด สามารถดาวน์โหลดรายงาน “7 Sustainability Trends 2023 Report” ฉบับเต็ม ได้ที่เว็บไซต์ accountability.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
เขียนโดย ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ