คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจซีพีเอฟเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีหน้า โดยเฉพาะรายได้จากขยายการลงทุนไป 17 ประเทศ ซึ่งทำให้รายได้จากฐานการผลิตในฐานต่างประเทศมีสัดส่วน 70-80% เติบโตได้ดี ทั้งในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และรัสเซีย
“แม้ว่าปีหน้าต้องผชิญกับความท้าทาย จากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่ออาหาร เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภคและผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราผลิต และยังเน้นดูแลสิ่งแวดล้อม และชุมชน จึงทำให้สินค้าเราได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทุกเซคเตอร์”
ขณะที่ตลาดในประเทศซึ่งมีสัดส่วน 30% อาจอ่อนตัวลง หรือเติบโตไม่เท่ากับต่างประเทศ เพราะจีดีพีจะขยายตัวน้อย ประชาชนอาจจะประหยัดขึ้น แต่ถึงอย่างไรอาหารยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการครองชีพ และเราผลิตโปรตีนราคาถูก ดังนั้น จะไม่กระทบ
“ปัจจัยเสี่ยงบาทแข็งกระทบต่อการส่งออกไม่มากนัก เพราะฐานผลิตในประเทศ 27-28% นั้น หลักๆ เป็นตลาดภายใน มีส่งออกเพียง 5% และยังมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศซึ่งจะช่วยบาลานซ์กันได้”
อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสินค้าเกษตรในปีหน้า เพราะผลผลิตอาจจะปรับลดลง ต้นทุนการผลิตอาจจะสูงขึ้น โดยพืชและสัตว์แต่ละชนิดมีความต้องการใช้น้ำต่างกัน ดังนั้นผู้ประกอบการควรวางแผนการบริหารจัดการน้ำไว้ในส่วนนี้ด้วย
สำหรับมาตรการดูแลสินค้าเกษตรตามที่รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้พืชเกษตรที่สำคัญและอาจจะดำเนินมาตรการต่อเนื่องถึงปีหน้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ก็ยังเป็นมาตรการที่จำเป็น
รายงานข่าวระบุว่า ซีพีเอฟรายงานยอดขายไตรมาส 3 ปี 2562 มูลค่า 132,597 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6% แต่หากไม่นับรวมผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ จะเพิ่มขึ้น 8% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,062 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
ภาพ The Bangkok Insight