เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยตรังกานู (Universiti Malaysia Terengganu – UMT) ประเทศมาเลเซีย ทีมชุมชนสัมพันธ์ สำนักบริหารความยั่งยืนและธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เดินทางเข้าพบ Dr. Mohd Fazrul Hisam Abdul Azizอาจารย์อาวุโส ประจำคณะประมงและวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยตรังกานู (UMT) และ Assoc. Prof. Dr. Amir Izzwan Bin Zamri Ph.D (Reading), BSc Food Sc, And Technology (UMP), Dip เทคโนโลยีการอาหาร (ITM) รองผู้อำนวยการศูนย์ถ่ายทอดความรู้และเชื่อมโยงอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยตรังกานู และคณะอาจารย์ มหาวิทยาลัยตรังกานู เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนทางทะเล และกระบวนการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึง “โครงการนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำระบบอัตโนมัติ หรือ ธนาคารปู” ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบแก่ชุมชนชาวประมงในรัฐตรังกานู โดยคาดว่าจะมีชาวประมงต่อยอดองค์ความรู้และได้รับประโยชน์จากธนาคารสัตว์น้ำกว่า 4,000 ราย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการหารือเพื่อต่อยอดแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในอนาคต
ในการนี้ “ทีมชุมชนสัมพันธ์” ได้ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานของระบบธนาคารสัตว์น้ำ เพื่อใช้ในการศึกษาและต่อยอดการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเลเปลือกแข็งให้แก่มหาวิทยาลัยตรังกานู ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีจุดเด่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทางทะเล ตั้งอยู่ในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย โดยมหาวิทยาลัยตรังกานูได้มีความเชื่อมั่น จากการดำเนินงานของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ที่นำโดย ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งมั่นทำงานร่วมกับชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี นำโดย คุณสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปะนาเระ เป็นโมเดลต้นแบบ มาอย่างต่อเนื่อง
โดยส่งเสริมด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูประมงชายฝั่ง รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำ นำไปสู่การส่งเสริมศักยภาพและคุณภาพชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่งอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังเข้ามาช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ “ร้านอวนชาวเล” ซึ่งเป็นร้านขายเครื่องมือประมง โดยชาวประมง ที่สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกชุมชนชาวประมง ทั้งนี้ จากการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน จึงทำให้ชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ จากสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประเภทกลุ่มเกษตรกรทำการประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประจำปี 2563
สำหรับ การขยายพันธุ์สัตว์น้ำ ผ่านนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำระบบอัตโนมัติ หรือ ธนาคารปู เป็นนวัตกรรมที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาขึ้นเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน โดยมุ่งแก้ปัญหาการลดลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งกระทบต่อรายได้และวิถีชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่ง สามารถใช้ขยายพันธุ์สัตว์น้ำที่มีไข่นอกกระดอง อาทิ ปูม้า ปูดำ ปูแสม กั้งกระดาน กุ้งก้ามกราม กุ้งมังกร เป็นต้น โดยได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอนุสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2561 และเป็นโครงการที่ได้รับ 4 รางวัลนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ 1) รางวัล “BEST INVENTION OF THAILAND” 2019 Toronto International Society of Innovation and Advanced Skills (TISIAS) 2) รางวัล “GOLD MEDAL” นวัตกรรมยอดเยี่ยม 2019 Toronto International Society of Innovation and Advanced Skills (TISIAS) 3) รางวัล “SPECIAL AWARD” 2019 Indonesian Invention and Innovation Promotion Association (INNOPPA) และ 4) รางวัล Chairman Awards 2019 งานมหกรรมนวัตกรรมบัวบาน
นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มุ่งมั่นทำงานบูรณาการความร่วมมือกับชุมชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ และกลายเป็น “องค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืน” นำไปสู่การส่งต่อองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ภายใต้แนวคิด “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริง