ฮ่องกงขึ้นแท่นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกสำหรับแรงงานต่างชาติในปี 2023

Mercer บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ระดับโลกได้จัดอันกับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานที่เข้าไปทำงานต่างประเทศในปี 2023 พบว่า ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก

ฮ่องกง

Mercer สำรวจค่าครองชีพในเมืองต่าง ๆ ออกมาเป็นดัชนี Cost of Living Index โดยใช้ค่าครองชีพของ  New York City เป็นแกนหลักเพื่อนำค่าครองชีพจากเมืองอื่น ๆ มาเปรียบเทียบด้วยหน่วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ผลสำรวจครอบคลุม 400 เมือง

ส่วนในปีนี้ การจัดอันดับครอบคลุมทั้งหมด 227 ประเทศจาก 5 ทวีปทั่วโลก เปรียบเทียบจากค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ มากกว่า 200 ด้านในแต่ละเมือง รวมทั้งค่าที่พักอาศัย การเดินทาง อาหาร เสื้อผ้า ของใช้ภายในบ้าน ไปจนถึงความบันเทิงและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์

สำหรับ 10 เมืองแรกที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกสำหรับแรงงานต่างชาติในปีนี้ มีดังนี้

  1. ฮ่องกง
  2. สิงคโปร์
  3. ซูริค (สวิสเซอร์แลนด์)
  4. เจนีวา (สวิสเซอร์แลนด์)
  5. บาเซล (สวิสเซอร์แลนด์)
  6. นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา)
  7. เบิร์น (สวิสเซอร์แลนด์)
  8. เทลอาวีฟ (อิสราเอล)
  9. โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก)
  10. แนสซอ (บาฮามาส)

ข้อมูลบนเว็บไซต์ Numbeo และ Expatistan เผยค่าครองชีพในฮ่องกงทั้งค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  อย่างเช่น

  • อาหาร Fast Food มื้อละ 44-45 ฮ่องกงดอลลาร์ หรือราว 200 บาท
  • ค่าฟิตเนสเดือนละ 588.36 ฮ่องกงดอลลาร์ หรือราว 2,633 บาท
  • น้ำมันเชื้อเพลิงลิตรละ 22.66 ฮ่องกงดอลลาร์ หรือราว 101.41 บาท
  • ค่ารถโดยสารสาธารณะรายเดือนอยู่ที่ 484-500 ฮ่องกงดอลลาร์  หรือราว 2,165-2,237 บาท
  • เช่าอพาร์ทเม้นท์ 1 ห้องนอนใจกลางเมืองรายเดือนอยู่ที่ 18,066.67 ดอลลาร์ฮ่องกงหรือราว 80,865 บาท

แม้ว่าฮ่องกง สิงคโปร์ และซูริคจะเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก แต่คุณภาพชีวิตของคนในเมืองก็ดีตามไปด้วย วัดจากการจัดอันดับ Quality of Living ที่จัดให้ทั้ง 3 เมืองอยู่ในกลุ่มที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 78 ส่วนสิงคโปร์และซูริคอยู่ในอันดับ 33 และอันดับ 2 ตามลำดับ ส่วนเมืองที่มีคุณภาพชีวิตสูงที่สุดในโลก คือ เวียนนา ประเทศออสเตรีย

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองต่าง ๆ มีค่าครองชีพพุ่งสูงมาจากสถานการณ์ที่ประสบกันมาแล้วในปี 2022 ทั้งสงครามยูเครน-รัสเซีย ผลกระทบที่มาจากไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้หลายประเทศต้องรับมือด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่มาในรูปของนโยบายการเงินที่เข้มงวด ทำให้สถานการณ์การเงินทั่วโลกฟืดเคือง จนเกิดการว่างงาน หนี้สาธารณะ จนมาถึงเงินเฟ้อที่กระทบในระดับบุคคล

การที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นกระทบต่อแรงงานต่างชาติที่เข้ามาหาโอกาสในประเทศต่าง ๆ หลังจากช่วงโควิด-19 ที่มีการปลดล็อกการทำงานในออฟฟิศไปสู่การทำงานทางไกลที่ไหนก็ได้ ทำให้ฝั่งพนักงานเองมีทางเลือกมากขึ้นและมีเวลาจัดลำดับความสำคัญใหม่ ให้มี Work-Life Balance มากขึ้น ส่วนนายจ้างเองก็ต้องวางแผนว่าจะจัดการพนักงานที่กระจายอยู่ทั่วโลกอย่างไร

ส่วนประเทศไทย กรุงเทพได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่อยู่ในกลุ่มค่าครองชีพต่ำและคุณภาพชีวิตต่ำ โดยอยู่ในอันดับที่ 105 ในการเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุด และเป็นอันดับที่ 130 เมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุด

ที่มา – MercerNumbeoExpatistan Brand Inside