เอชอาร์เป็นวงล้อที่หมุนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร การจะขับเคลื่อนงานด้านนี้ให้ประสบความสำเร็จต้องรู้จักธุรกิจ รู้จักกำไร ขาดทุน รู้จักเลือกคนที่ถูกต้อง พัฒนาคนอย่างถูกต้อง
คุณศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่ม ด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดมุมมองด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
คุณศรินทร์รา มีแนวคิดว่า ทุกการทำงานย่อมมีกรอบ ทว่าไม่จำเป็นที่กรอบนั้นจะต้องเป็นสี่เหลี่ยมเสมอไป เช่นเดียวกันกับการบริหารงานด้านเอชอาร์ที่ต้องมีการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ฉีกออกไปจากกฏเกณฑ์เดิมๆ
อย่างกลุ่มทรู ด้วยจุดแข็งของการเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ทำให้มีการนำไอทีมาปรับใช้ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) สำหรับการรับพนักงานใหม่ ระบบอัติโนมัติ “เอชอาร์ ออโตเมชั่น” สำหรับใช้ในกระบวนการเข้าถึงข้อมูล การขอเอกสาร รวมถึงการประเมินผลงานต่างๆ ฯลฯ โดยขณะนี้ 90% ของระบบงานเป็นระบบอัตโนมัติหมดแล้ว มากกว่านั้นยังมีแชทบอทที่ทำให้การสื่อสารภายในเป็นไปอย่างราบรื่นผ่านระบบแชท
“เราจะไม่ทำเอชอาร์แบบเดิมๆ ต้องมีการลดงานที่ไม่จำเป็นและไปเน้นงานที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม การสื่อสารภายในองค์กรต้องง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เป็นเพียงข้อความสั้นๆ หรืออินโฟกราฟิก การออกกฏ นโยบาย รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ต้องทำบนพื้นฐานความพึงพอใจของพนักงานเป็นอันดับแรก”
เงินไม่สำคัญเท่า ‘คนคุณภาพ’
คุณศรินทร์ราเล่าว่า ทำงานที่ทรูมากว่า 10 ปี เสียงสะท้อนที่ได้รับจากพนักงานมาโดยตลอดคือ ผู้บริหารดี เพื่อนร่วมงานดี ให้ผลตอบแทนที่ดี ด้วยที่ผ่านมาผู้บริหารอย่างคุณ “ศุภชัย เจียรวนนท์” เน้นเรื่องการดูแลพนักงานเป็นอย่างมาก และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเรื่องความสุขของพนักงานด้วยตนเองในหลายๆ เรื่อง
สำหรับข้อจำกัดและความท้าทาย แน่นอนว่าทุกองค์กรต้องเผชิญ ทว่าสิ่งที่จะทำให้ก้าวข้ามไปได้และผ่านไปได้ด้วยดีคือ การทำงานด้วยความรัก ส่วนตัวมีมุมมองว่าคนเราเมื่อทำอะไรด้วยแพชชั่นและความรักย่อมประสบความสำเร็จได้
ขณะที่ช่องว่างระหว่างวัย บริหารจัดการโดยการทำความเข้าใจและใส่ใจตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่นคนกลุ่มเบบี้บูมพร้อมที่จะทุ่มเททำงานหนักเพื่อองค์กร เจนเอ็กซ์ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ เจนวายชอบการเปลี่ยนแปลง จากนั้นปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับกลุ่มบุคคล
“ทุกการทำงานคือการแก้ปัญหา การจัดการความท้าทายคือความสนุก ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย ที่สำคัญคือการวางโจทย์ที่ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้ลูกค้าเกิดความพอใจสูงสุด”
อย่างไรก็ดี อีกปัจจัยที่ผลักดันให้ประสบความสำเร็จ มาจากการที่กลุ่มทรูเป็นองค์กรที่เปิดกว้าง มีการเรียนรู้ ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันรับฟังทุกๆ ความคิดเห็นของพนักงานเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ทำให้องค์กรเติบโต
“เทคโนโลยีและดาต้าเป็นสมองในการขับเคลื่อนงาน ส่วนคนและวัฒนธรรมคือหัวใจที่ผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จ เราจึงเน้นการพัฒนาคน ผลักดันให้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มครอบคลุมทั้งมิติของผู้นำองค์กร การทำงานร่วมกัน การวางลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การยกระดับศักยภาพ และการพัฒนานวัตกรรม”
ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว หากนิ่งเฉยอยู่ในที่เดิมก็จะช้าเกินไป ทุกองค์กรจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม การที่มีเงินจำนวนมากไม่สำคัญเท่ากับที่มีคนที่มีคุณภาพ
ดึง ‘บิ๊กดาต้า’ ติดปีกธุรกิจ
คุณศรินทร์รา เผยว่า กลุ่มทรูมีพนักงานกว่า 1.7 หมื่นคน ดังนั้นการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมสร้างความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผน บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ แนวทางการดูแลพนักงานจึงมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการในแต่ละหน่วยธุรกิจซึ่งมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป
ที่ผ่านมาใช้บิ๊กดาต้ามาช่วยวิเคราะห์ถึงความต้องการที่แตกต่าง ไม่ใช่เพียงพิจารณาจากวิธีการทำงานหรือหน้าที่รับผิดชอบ แต่รวมไปถึงช่วงอายุของแต่ละบุคคลด้วย
ที่สำคัญการทำงานทุกอย่างต้องเริ่มจากความรัก ด้วยเชื่อว่า “เพราะรักทุกอย่างจึงเป็นไปได้” สิ่งที่ทำครอบคลุมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยที่ให้ความสำคัญอันดับแรกๆ คือ “การพัฒนาคน” ภายใต้แนวคิดที่มีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ปลูกฝังให้คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
นอกจากนี้ มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีบรรยากาศที่ดี ทำให้พวกเขารู้สึกพอใจ มีความสุขกับการมานั่งทำงาน โดยทุกๆ อย่าง ทุกๆ งานเน้น “ถ่ายทอดผ่านการกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด หากไม่ทำจริง ก็จะไม่พูด”
พร้อมกันนี้ สร้างความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นให้เกิดขึ้น กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และที่ขาดไม่ได้ผลักดันให้พนักงานมีความกล้าที่จะคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก
สำหรับภาพความสำเร็จที่ต้องการเห็นคือ การเดินหน้าไปสู่ “เอชอาร์ อนาไลติกส์” ในทุกๆ ด้าน ขณะเดียวกันสะท้อนภาพของการเป็นองค์กรดิจิทัลและนวัตกรรม รองรับยุคแห่งเทคโนโลยี 4.0 และ 5.0 ในอนาคต
กลุ่มทรูเชื่อว่า ทุกคนเป็น “ทาเลนท์” ได้ แต่ละคนมีความเก่งที่ไม่เหมือนกัน หน้าที่ของเอชอาร์คือเป็นพันธมิตร เป็นที่ปรึกษาที่จะช่วยดึงศักยภาพของแต่ละบุคคลออกมาให้ได้มากที่สุด คนที่ทำงานเอชอาร์ต้องมีใจรักกับงานที่ทำ เห็นคุณค่าของทุกคน เพื่อส่งต่อวัฒนธรรมองค์กรเช่นที่ทรูนอกจากความเก่งเน้นเรื่องจิตใจและคุณธรรม
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ