รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียฉบับเดือนเมษายน 2566 (Asian Development Outlook (ADO) April 2023) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ซึ่งเผยแพร่วันที่ 4 เมษายน 2566 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2566 และร้อยละ 3.7 ในปี 2567 โดยการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และปีหน้า อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่คาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะลดลงจากปี 2565 เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปทานที่คาดว่าจะลดลงตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง โดยในปี 2566 คาดว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อยละ 2.9
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero นับเป็นความท้าทายเชิงนโยบายของประเทศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างมาก โดยประเทศไทยเผชิญภัยธรรมชาติที่รุนแรงในช่วงปี 2543-2562 น้ำท่วมและภัยแล้งเกิดขึ้นเป็นปกติในปัจจุบัน ในปี 2564 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากที่สุดในดัชนี Global Climate Risk ที่จัดทำโดย Germanwatch โดยกลุ่มคนยากจนได้รับความเสียหายมากกว่าประชากรกลุ่มรายได้อื่น
- เอดีบีเพิ่มเป้าระดมเงิน 1 แสนล้านดอลล์ ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศไทยประกาศไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30 จากปีฐานภายในปี 2573 ตามประกาศการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NDC) และที่การประชุม COP26 ในปี 2564 ประเทศไทยประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการบรรจุแผนนี้ในยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (LT-LEDS) NDC ฉบับใหม่มีการประกาศเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2573
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กฎหมายด้านสภาพอากาศฉบับแรกของประเทศที่กำลังจะมีการประกาศบังคับใช้นั้น มีการระบุมาตรการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม และกลไกสร้างแรงจูงใจสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จาก LT-LEDS จะมีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อช่วยจัดสรรทรัพยากร สนับสนุนโครงการที่ช่วยลดผลกระทบและการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสนับสนุนการทาวิจัย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อ ความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยในการจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงที่ยั่งยืน
แม้ว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น และตั้งเป้าหมายที่ค่อนข้างสูง ยังมีอีกหลายอย่างที่ประเทศจะต้องดำเนินการต่อไป Climate Action Tracker จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘ไม่เพียงพอเป็นอย่างมาก’ จากการดำเนินงานที่ยังน้อยและไม่สอดคล้องกับความตกลงปารีส ภายใต้นโยบายปัจจุบัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 4 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการที่จำกัดการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (ภาพที่ 2.30.9)
ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงทุกภาคส่วนจะต้องร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะภาคพลังงานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคเศรษฐกิจอื่น
ความท้าทายในอนาคตคือการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของภาคธุรกิจในระยะสั้น เนื่องจากมีต้นทุนที่สูง ธุรกิจบางรายประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนจากนักลงทุน
ความท้าทายอีกด้านคือการที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค มีการรับรู้และเข้าใจการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่ตรงกัน
ในประเทศไทย ประชาชนยังมีการพูดคุยกันเกี่ยวกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มากนัก ภาครัฐควรมีส่วนในการทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น
ที่มา ไทยพับลิก้า