อาชีพนักเขียนจะอยู่อย่างไรในยุค AI ครองเมือง

AI

 

ตั้งแต่ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิต คำถามที่วัยทำงานหลายๆ คนสงสัยคือ “มันจะมาแย่งงานเราไหมนะ?”

คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็อาจต่างกันไป แล้วแต่มุมมอง แต่ก็ดูกรณีศึกษาจากอาชีพ Copywriter เป็นตัวอย่างได้เลย

Benjamin Miller (นามสมมุติ) นักเขียนมือทอง ผู้นำทีมนักเขียนและบรรณาธิการคนอื่นๆ อีกกว่า 60 คน หน้าที่ของเขาคือเขียนบทความและบล็อกเพื่อโปรโมตบริษัทเทคแห่งหนึ่งที่เน้นเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทุกอย่างตั้งแต่บ้านยันรถ

ในมุมมองของ Miller งานนี้เป็นงานที่สนุกมาก เพราะใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์และได้ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ อีกด้วย

ในปี 2023 ความสนุกของ Miller ก็ต้องจบลง เมื่อผู้จัดการเดินมาบอกว่ากำลังจะมีโปรเจกต์ใหม่ ด้วยการนำ AI มาช่วยลดต้นทุน

60 กว่าคน เหลือ 1

หลังจากได้รับข่าว 1 เดือน บริษัทของ Miller ก็เริ่มใช้งานเทคโนโลยีที่ว่า โดยผู้จัดการจะป้อนหัวข้อบทความเข้าไปในแพลตฟอร์มออนไลน์ ก่อนที่ AI จะร่างโครงสร้างแล้วแจ้งเตือนไปยัง Miller ให้แจกจ่ายงาน

ทีมนักเขียนของ Miller จากที่เคยคิดหาไอเดียเอง ก็โดนลดหน้าที่เหลือเพียงแค่เขียนออกไปตามโครงสร้างของ AI แล้วส่งให้ Miller เป็นคนปรับแก้ในตอนสุดท้าย

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่กี่เดือนหลังจาก Miller เพิ่งปรับตัวเข้ากับระบบงานใหม่ได้ บริษัทก็นำ ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเขียนบทความได้ทั้งเรื่องมาใช้ ส่งผลให้เกือบทั้งทีมของ Miller โดนไล่ออก

ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็ถูกลดหน้าที่เหลือแค่ช่วยปรับบทความของ AI ให้ดูเหมือนมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น

ในเมื่องานนี้มันฟังดูเป็นงานที่ไม่ต้องใช้กำลังคนมากนัก ในปี 2024 บริษัทจึงไล่ทีมงานของ Miller ออกยกเซ็ต เหลือเพียงเขาคนเดียวที่ต้องมานั่งอ่านงานเขียนจาก ChatGPT แล้วเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้กับมัน

Miller ได้ระบายความในใจออกมาว่า “ส่วนใหญ่แล้วมันก็แค่ปรับนิดปรับหน่อยและทำให้งานเขียนอ่านง่ายขึ้น แต่ถ้าให้เทียบกับสมัยที่ผมคอยแก้งานคนในทีม งานของ AI ต้องแก้เยอะกว่ามาก และส่วนใหญ่ก็ผิดแต่เรื่องเดิมๆ เป็นงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อจนผมรู้สึกเหมือนกำลังจะกลายเป็นหุ่นยนต์เลย”

AI จะมาแย่งงานเราจริงหรือ?

ภาพจาก Pixabay

AI จะมาแย่งงานเราหรือไม่นั้นคงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาเตือนว่า AI จะมาแทนที่งานเกือบทั้งหมด แต่บางคนเชื่อว่าพวกมันจะไม่ถูกพัฒนาให้เก่งขนาดนั้น ในขณะเดียวกัน บางคนก็คิดว่าเราไม่ควรมองมันเป็นคู่แข่งและควรเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ AI ให้ได้

ทว่า หากมองแคบลงกว่านี้ บุคลากรบางส่วน เช่น นักเขียน ก็ได้รับผลกระทบจาก AI แล้ว อิทธิพลของปัญญาประดิษฐ์เริ่มกลายเป็นปัญหาหนัก จนคนเขียนบทในสหรัฐอเมริกาต้องออกมาประท้วงกันเมื่อปีก่อน

มากไปกว่านั้น ถ้าวันหนึ่ง AI ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงๆ เรื่องราวของ Miller ก็อาจเป็นเพียงการเชือดไก่ให้ลิงดูสำหรับอาชีพอื่นๆ เท่านั้น

ในมุมมองของ Copywriter บางคน ข้อดีของ AI ก็มีอยู่บ้าง เพราะมันช่วยให้งานเสร็จไวและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง AI กำลังทำให้นักเขียนประสบการณ์น้อยหางานยากกว่าเดิม

ไม่แย่งงานแต่เงินน้อยลง

ถึงนักเขียนบางคนอาจถูกจ้างให้มาเกลางานของ AI ก็จริง แต่เงินที่ได้นั้นเทียบไม่ได้กับตอนที่เป็นนักเขียนแบบเต็มตัวเลย

Catrina Cowart นักเขียนจากสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า “เราแค่เติมความเป็นมนุษย์เข้าไปในชิ้นงาน แต่มันสูบพลังเยอะมาก เพราะเราต้องมานั่งตัดคำยากๆ ออก แถมต้องตรวจด้วยว่าข้อมูลนี้ถูกจริงหรือเปล่า บางที AI มันชอบใส่ข้อมูลมั่วๆ เข้ามาจนเราก็หลุดสังเกตถ้าไม่อ่านให้ละเอียด”

Cowart ยังเสริมอีกว่าการตามแก้งานให้ AI นั้นใช้เวลาเยอะกว่าตอนที่เธอเขียนอะไรขึ้นมาเองเสียอีก มิหนำซ้ำยังได้เงินน้อยกว่าเดิมด้วย

เธอเผยว่า “ตามแพลตฟอร์มหางานฟรีแลนซ์ ถ้าเป็นงานเขียน พวกเราจะได้มากสุดประมาณ 0.06 บาทต่อคำ แต่ถ้าเป็นงานแก้ เราจะได้แค่ 0.03 บาทต่อคำเท่านั้น”

AI คือของขวัญจากพระเจ้า

อ่านมาถึงตรงนี้ AI คงดูเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากๆ สำหรับวงการนักเขียน แต่ก็มีนักเขียนบางคนที่เชื่อว่ามันเป็นเรื่องปัจเจก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้งานยังไงและทำงานนี้มานานแค่ไหนแล้วมากกว่า

สำหรับ Rebecca Matter ประธานบริหาร American Writers and Artists Institute (AWAI) องค์กรที่คอยให้การสนับสนุนแก่นักเขียนฟรีแลนซ์ เธอมองว่า “AI เป็นเครื่องมือที่ดี และมันไม่ได้จะมาแย่งงานเขียนของใครทั้งนั้น ตราบใดที่พวกคุณรู้จักปรับตัวอยู่กับมัน”

ที่สำคัญ เธอยังบอกอีกว่าการมาของ AI ไม่ได้กระทบนักเขียนคนไหนที่เธอรู้จักเลย แต่มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเขียนจนบางคนเริ่มใส่ ‘นโยบายการใช้ AI’ ลงหน้าเพจของตนเองด้วยซ้ำ

ทางด้าน Rebecca Dugas นักเขียนประสบการณ์ 9 ปี ให้นิยาม AI ว่าเป็น ‘ของขวัญจากพระเจ้า’ เพราะมันช่วยให้เธอเขียนงานดีๆ ออกมาได้ในเวลาไม่นาน

ทั้งนี้ทั้งนั้น Dugas เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนจะรับได้กับการใช้ AI ในงานเขียน ดังนั้นเธอจึงระบุไปใน ‘นโยบายการใช้ AI’ ของเธอเลยว่า หากลูกค้าคนไหนไม่ประสงค์ที่จะให้ใช้ AI ในงาน ก็สามารถแจ้งได้ แต่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ในมุมมองของ Dugas เธอเชื่อว่าถ้า AI พัฒนาไปมากกว่านี้ หลายๆ บริษัทคงหันมาใช้งานพวกมันแทน อย่างไรก็ตาม มันก็ต้องมีคนมานั่งกำกับและตรวจคุณภาพงานของ AI อยู่ดี ดังนั้น สุดท้ายแล้วนักเขียนก็จะยังมีงานทำและบริษัทก็ควรให้ค่าตอบแทนงามๆ ด้วย

เขียนยังไงก็ได้ให้คนไม่รู้ว่า AI ทำ

เมื่อไม่นานมานี้ กูเกิล เพิ่งประกาศออกมาว่า จะลบคอนเทนต์ทุกเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ออกจากหน้าค้นหา ส่งผลให้บรรดานักเขียนและเจ้าของเว็บไซต์เกิดข้อสงสัยว่า “แล้วงานเขียนจาก AI ถือว่ามีประโยชน์หรือเปล่า?”

การตัดสินใจในครั้งนี้ของกูเกิล สร้างความหวาดกลัวให้กับวงการนักเขียนเป็นอย่างมาก เพราะในปี 2023 นักเขียนหลายๆ คนต้องตกงานเพราะถูกกล่าวหาว่าใช้ AI

แม้กูเกิลจะออกมาชี้แจงแล้วว่า AI ไม่ใช่ตัวชี้วัดในการโดนลบงาน ขอแค่คอนเทนต์คุณภาพสูงก็พอ แต่นักเขียนหลายๆ คนยังคงกังวล ถึงขั้นต้องเอาผลงานไปเช็กในซอฟต์แวร์ตรวจจับ AI เรียกได้ว่าเป็นการให้ AI มาช่วยหา AI อีกทีหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่เจ้าของเว็บไซต์บทความทั้งหลายยังอยากได้ยอดรับชมจากกูเกิล แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากเลิกใช้ AI ดังนั้น พวกเขาจึงต้องพยายามหาวิธีหลบหลีกการตรวจจับของซอฟต์แวร์เหล่านี้ให้ได้

Cowart ในฐานะนักเขียนฟรีแลนซ์ เธอเล่าว่า “เว็บไซต์พวกนี้จะขายคอนเทนต์ที่เขียนโดย AI แล้วจ้างให้พวกเรามาแก้มัน และ พวกเขาก็จะส่งอีเมลเกี่ยวกับวิธีแก้งานเขียนที่จะไม่ทำให้ซอฟต์แวร์ตรวจจับได้ด้วย นี่มันหยามกันชัดๆ”

นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่าซอฟต์แวร์ตรวจจับ AI มักจะอัปเดตเงื่อนไขใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าต้องเขียนแบบไหนถึงจะดูเป็นมนุษย์มากที่สุดในสายตาพวกมัน

จากคนโดนแย่งงาน สู่การช่วยงาน AI

ล่าสุด Miller ได้งานใหม่แล้วที่ Undetectable AI บริษัทเทคที่เน้นสร้างซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้งานเขียนฝีมือปัญญาประดิษฐ์ถูกตรวจจับได้ยากขึ้น จากคนที่โดน AI แย่งงาน กลายเป็นคนที่ช่วยให้ AI อยู่รอด!

Bars Juhas CTO ของ Undetectable AI ทราบดีว่าสินค้าของตนกำลังทำร้ายตลาดแรงงาน แต่เขาก็เชื่อมั่นในโลกอนาคต เขาบอกว่า “มันก็เหมือนกับตอนที่รถยนต์ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ๆ เพราะพวกคนที่สัญจรด้วยการขี่ม้า ก็คิดว่าโลกกำลังจะล่มสลายกันทั้งนั้น

Juhas เชื่อว่าสังคมจะปรับตัวเข้ากับ AI ได้ แม้บางอาชีพ โดยเฉพาะฟรีแลนซ์จะถูกทดแทน แต่คนที่ถูกจ้างมาแก้งานฝีมือ AI ก็คือคนที่รู้จักคว้าโอกาส ดังนั้น คนที่สามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกับ AI ได้ คือคนที่จะอยู่รอดบนโลกใบนี้

สุดท้ายแล้ว คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ว่า AI จะมาแย่งงานเราหรือเปล่า แต่สำหรับ Miller แล้ว เขาคือหนึ่งในคนที่เชื่อเรื่องนี้สุดหัวใจ

 

แหล่งอ้างอิง: BBC

ที่มา Brand Inside