ซีพีออลล์ เดินหน้าขยายสาขา-ปรับปรุงร้านและพัฒนาระบบไอที พร้อมรุกธุรกิจใหม่ ด้วยงบกว่าหมื่นล้านบาท หวังดันยอดขายฟื้น หลังไตรมาสแรกรับผลกระทบโควิด-19 รอสถานการณ์คลี่คลาย

คุณเกรียงชัย บุญโพธิอภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยว่า อัตราการเติบโตของสาขาเดิม (SSSG) ไตรมาสที่ 1/2563 ติดลบ 4.0% จากปีที่ผ่านมาบวก 1.7% จากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการการเปิดสาขาในเวลาจำกัด

“ต้องยอมรับว่าSSSG ไตรมาส 1 ติดลบไป 4% และ โดยเฉพาะในเดือน เม.ย. ซึ่งทุกปีจะเป็นวันหยุดต่อเนื่องสงกรานต์ติดต่อกันหลายวัน แต่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ผันผวน กดดันให้ยอดขายโดยรวมไตรมาส 2 ปรับตัวลดลงอีก ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมค้าปลีกทั้งหมด แต่กระนั้นเชื่อว่าถ้าสถานการณ์ผ่อนคลายลง รัฐบาลปลดล็อกมาตรการควบคุม และออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป

เชื่อมั่นว่ายอดขายจะกลับมาคืนมาได้ในไม่ช้า ขณะแผนการลงทุนขยายสาขาใหม่ ซึ่งตั้งเป้าเปิดปีนี้ 700 สาขา ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้จากกรอบเวลากำหนดในการขยายสาขาให้ได้ทั้งสิ้น 13,000 สาขา ภายใน 2564 และจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนการลงทุนขยายสาขาในกัมพูชา ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งหลังจากสถานการณ์นี้คลี่คลายลง จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนขึ้น”คุณเกรียงชัยกล่าว

อย่างไรก็ดี CPALL ยังเตรียมเดินหน้าใช้งบลงทุนปีนี้ที่วางไว้ 11,500-12,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเพื่อการขยายสาขา 3,800 – 4,000 ล้านบาท ใช้ในการปรับปรุงร้านค้า 2,400 – 2,500 ล้านบาท และการลงทุนใหม่ๆ 4,000 – 4,100 ล้านบาท และใช้ในการพัฒนาระบบไอที 1,300 – 1,400 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวม สภาพคล่องทางการเงินของ CPALL ในปัจจุบันถือว่ามีสภาพคล่องสูง โดยปีนี้มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ 12,290 ล้านบาท ซึ่งในเดือน มิ.ย. มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ 1,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะครบกำหนดชำระเดือน ต.ค.นี้

สำหรับทิศทางในช่วงไตรมาส 2/2563 คาดว่ายอดขายจะชะลอตัวลง ตามเหตุการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีความเข้มงวดใน เรื่องของมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อาทิ ออกมาตรการเคอร์ฟิว ลดการขายแอลกอฮอล์ รวมถึงยกเลิกเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งส่งผลให้กระทบต่อยอดขายโดยรวมและเชื่อว่าในอนาคตจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น

สำหรับกลยุทธ์การทำธุรกิจในช่วงมาตรการโควิด-19 บริษัทได้มีการเร่งพัฒนาระบบอำนวยความสะดวก อาทิ การสั่งสินค้าออนไลน์ หรือการสั่งสินค้าล่วงหน้า, การจัดส่งสินค้าถึงบ้าน และการสั่งสินค้าผ่านต่างๆรวมถึงจัดโปรโมชั่นข้าวกล่องราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นยอดขายและช่วยเหลือผู้บริโภค

เซ็นสัญญาเทสโก้ เอเซีย แล้ว

ขณะที่เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมาบริษัทได้ประกาศการร่วมลงทุน ระหว่าง CP Group และ CTF เพื่อลงทุนใน ”เทสโก้ เอเชีย” ซึ่งเป็นเจ้าของเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย ปัจจุบันได้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วแต่ยังไม่เสร็จสิ้นทุกกระบวนการ เนื่องจากยังมีเงื่อนไขบางอย่างที่ต้องตรวจสอบ เช่น การขออนุญาตเปลี่ยนผู้ดำเนินการระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อในไทยและมาเลเซีย รวมถึงต้องรอมติประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเทสโก้

นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 บริษัทได้ประกาศดำเนินธุรกิจในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันได้มีการเซ็นสัญญา ในการได้รับสิ ทธิ์บริหารงานเป็นระยะเวลา 30 ปี บวก 20 ปีอีกจำนวน 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 70 ปีในการดำเนินธุรกิจ สำหรับการเปิดสาขาในกัมพูชา ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจากับเซเว่น-อีเลฟเว่นในสหรัฐ เพื่อการเข้าไปทำธุรกิจให้ดีที่สุด

ที่มา:ข่าวหุ้น/ผู้จัดการออนไลน์