สำรวจเผยผู้บริโภคชาวไทย ทัศนคติโดยรวมเป็นไปในแง่บวก เงินเฟ้อ/ชวดโบนัส ข้อกังวลสูงสุด พบนิยมใช้ดิจิทัลแบงกิ้งมากสุดในอาเซียน แอปฯ ธนาคารบนสมาร์ทโฟน ช่องทางหลัก โดยนิยมชำระเงินผ่านอีวอลเล็ตและคิวอาร์โค้ดมากสุด
ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย รายงานผลการศึกษา ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน (ASEAN Consumer Sentiment Study-ACSS) ประจำปี 2566 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจาก 5 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม
นายยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า รายงานปีที่ 4 หรือฉบับล่าสุด จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 1-26 มิ.ย. 66 โดยโฟกัสในไทยได้สำรวจผู้บริโภคชาวไทย 600 คน
อายุ 18-65 ปี รายได้ส่วนบุคคลรายเดือน ในกลุ่มชนชั้นกลาง (Mass) <50,000 บาท, กลุ่มชนชั้นกลางผู้มั่งคั่ง (Mass Affluent) 50,000-199,000 บาท และกลุ่มมั่งคั่ง (Affluent) ≥200,000 บาท
พบว่าทัศนคติโดยรวมของผู้บริโภคเป็นบวก (77%) แต่ความรู้สึกไม่แน่นอนได้เพิ่มขึ้น โดยผู้บริโภคจำนวนมาก (72%) มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน 6-12 เดือนข้างหน้า และมีผู้บริโภค 68% คาดว่าตนเองจะมีฐานะทางการเงินดีขึ้นในปี 2567
อย่างไรก็ตาม 75% ของผู้บริโภค ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตนเอง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่กังวลมากสุด 57% และ 39% ยังกังวลจะสูญเสียโบนัสจากการทำงาน
ด้วยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่มีอยู่ การจัดสรรเงินของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยมีการออมเงินและนำเงินไปลงทุนมากขึ้น โดยพฤติกรรมการนำเงินไปลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ธนาคารและเงินฝากประจำ
ผู้บริโภคชาวไทยใช้ดิจิทัลแบงกิ้งมากสุดในอาเซียน
ผลสำรวจยังพบผู้บริโภคชาวไทยมีการใช้ดิจิทัลแบงกิ้ง และช่องทางการชำระเงินผ่านแอปฯ ธนาคารบนสมาร์ทโฟน และอีวอลเลต เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผู้บริโภคชาวไทยในประเทศมีการใช้บริการดิจิทัลแบงกิ้งมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคใน 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สำรวจ ดังนี้ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม
และผู้บริโภค 90% สบายใจที่จะแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวของตนกับแอปฯ ธนาคาร มากกว่าแอปฯ ประเภทอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นความสนใจของผู้บริโภคในการเปิดรับข้อเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่คัดสรรเฉพาะจากธนาคาร
ผู้บริโภคไทยใช้ดิจิทัลแบงกิ้ง มากสุดในอาเซียน | |||
ช่องทางใช้งานดิจิทัลแบงกิ้ง | % ผู้ตอบแบบสอบถาม | วิธีการ
ชำระเงินดิจิทัล |
% ผู้ตอบแบบสอบถาม |
แอปฯ ธนาคาร | 61% | อีวอลเลต หรือคิวอาร์โค้ด | 61% |
เว็บเบราว์เซอร์ธนาคาร | 38% | เว็บเบราว์เซอร์ธนาคาร | 47% |
ให้คำปรึกษาด้วย Robo Advisor/AI | 30% | แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ | 46% |
เครื่องทำธุรกรรมด้านการเงินอัตโนมัติ | 30% | บริการชำระเงินระหว่างบุคคล (Peer-to-Peer) | 44% |
แพลตฟอร์มแบบผนวกรวมในการดูแลข้อมูลทางการเงิน | 29% | บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในกระเป๋าเงินดิจิทัล | 42% |
แบรนด์อีวอลเล็ต ยอดนิยม | % ผู้ตอบแบบสอบถาม | ||
TrueMoney Wallet | 92% | ||
Rabbit LINE Pay | 31% | ||
AirPay | 16% | ||
ที่มา: ASEAN Consumer Sentiment Study, สำรวจผู้บริโภคชาวไทย 600 คน, เผยแพร่ กันยายน 2566 |
ที่มา Marketeer