การแข็งค่าของเงินบาทอาจใกล้จบลงแล้วในรอบนี้ เนื่องจากขาดปัจจัยหนุนใหม่เข้ามา อย่างเช่น การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน
ในเดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 6% จากระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ มาต่ำกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย หลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรควบคุมโควิด ขณะที่นักลงทุนต่างคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของไทยยังคงเติบโตได้ 4.5% ในไตรมาส 3
Galvin Chia นักยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนตลาดเกิดใหม่ของ NatWest Markets กล่าวว่า ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในระดับเหมาะสม หากค่าเงินดอลลาร์ไม่ได้ถูกขายออกมาเพิ่ม ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกไม่ได้เปลี่ยนไป หรือประเทศจีนไม่ได้กลับมาเปิดประเทศ
“ในมุมมองเชิงเทคนิค กรอบ 35.12-36.40 บาทต่อดอลลาร์ ดูเป็นราคาที่สมเหตุสมผล”
ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์เทียบกับค่าเงินสกุลต่างๆ ในเอเชียอาจจะดำเนินต่อไปได้อีก 3-6 เดือน จากความเห็นของ Goldman Sachs
อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทได้อานิสงส์จากความคาดหวังที่ว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยในปีหน้า แต่แรงหนุนอาจจะจำกัดหากประธาน Fed แต่ละสาขาออกมาส่งสัญญาณที่จะใช้นโยบายตึงตัวต่อไป
อย่างกรณีของ James Bullard ประธาน Fed สาขา St. Louis ที่ออกมาพูดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า Fed ควรจะขึ้นดอกเบี้ยไปจนถึงระดับ 5-5.25% เป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นค่าเงินบาทก็ถูกเทขายออกมา
ด้าน Rajeev de Mello ผู้จัดการกองทุนของ GAMA Asset Management กล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทไม่สามารถแข็งค่าได้ต่อ เป็นเพราะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา และราคาน้ำมันที่ไม่ได้ลดลงต่อ การเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนออกมายังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อใดก็ตามที่นักท่องเที่ยวจีนได้รับอนุญาตให้ออกมาได้แบบอิสระ ไทยจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับอานิสงส์มากที่สุด”
ขณะที่ค่าเงินวอนของเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เงินวอนอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 13 ปี กลายมาเป็นสกุลเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย
ค่าเงินวอนแข็งค่าขึ้น 6% เทียบกับสกุลดอลลาร์ ในเดือนนี้ ถือเป็นค่าเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย หลังจากตลาดคาดหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะชะลอลง และการคลายนโยบาย Zero-COVID ของจีน ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ดิ่งลงต่อเนื่องก็ช่วยให้ตัวเลขขาดดุลการค้าลดลง
Park Sang Hyun นักเศรษฐศาสตร์ของ Hi Investment & Securities กล่าวว่า “เงินวอนมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ และน่าจะผ่านจุดที่อ่อนค่ามากที่สุดไปแล้ว”
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าค่าเงินวอนมีโอกาสจะแข็งค่าไปจนถึง 1,200 วอนต่อดอลลาร์
ขณะที่ Oh Suktae นักกลยุทธ์ของ Societe Generale มองว่า หากธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% แทนที่จะเป็น 0.5% จะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินวอนแข็งค่าได้ต่อเนื่อง
อ้างอิง: