ประธานอาวุโสส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีเครือซีพีพร้อมสนับสนุนรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 พร้อมเสนอ 5 ยุทธศาสตร์ พลิกวิกฤติ เป็นโอกาส แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล มาตรการน้ำ และ แก้ปัญหาความยากจนเกษตรกร ชี้แจงเครือฯดำเนินการหลายด้านใช้งบกว่า 700 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ทำจดหมายตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีใจความว่า

“ผมถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤต เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการนำประเทศชาติ ก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้ และขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าในการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไทยทำให้วันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 30 เมษายน 2563)

นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยจากทุกภาคส่วน ออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเสมอมา เช่นเดียวกับวิกฤตในครั้งนี้ ที่จะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งเสนอสิ่งที่ผมและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท พร้อมเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป”

ประธานอาวุโสยังระบุว่า ในระยะต่อไป สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การเตรียมการเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องรักษาความเชื่อมั่น และประคองระบบสังคม วิถีชีวิต ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องไม่ล้มหายตายจากไป และ ยังรักษาการจ้างงาน พี่น้องประชาชน จะยังคงมีรายได้เลี้ยงชีพ อาชีพอิสระ อาชีพรับจ้าง เกษตรกร หรือแม้กระทั่งคนว่างงาน จะยังคงมีรายได้เพียงพอในการยังชีพ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

นอกจากนี้ ในยามที่ฟ้ามืด ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อยามฟ้าสว่าง นั่นคือ การเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศไทยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส และ ประเทศไทย กล้าตั้งเป้าหมายให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก” ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว

ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ได้รับผลกระทบจากภัยโควิด-19 นี้โดยถ้วนหน้า สมควรที่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือ ดูแล และสนับสนุนให้ทั่วถึงทุกภาคส่วน ภาคประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ และอาจมีภาระหนี้สินด้วย

ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน ก็ได้รับผลกระทบ ทั้งด้านการขาดรายได้ การยังคงมีรายจ่ายค่าจ้างแรงงานและรายจ่ายต่างๆ ตลอดจนภาระหนี้สินที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจเอกชนขนาดเล็ก-กลาง (SME) แม้จะมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจไม่มากนัก แต่ก็เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในระดับภูมิภาค/ท้องถิ่น ธุรกิจขนาดใหญ่มีความเชื่อมโยงกับ SME และ Supply Chain ในระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง มีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจสูง นับเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ฉะนั้น รัฐบาลจึงควรช่วยเหลือสนับสนุนภาคประชาชนและธุรกิจเอกชนทุกขนาดให้ทั่วถึงโดยรวดเร็ว ตามความเดือดร้อน ในช่วงที่ประสบปัญหาโควิด-19 รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ สนับสนุน เร่งกระตุ้นภาคเอกชนให้ปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ ให้มี ประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ ภายใต้ “สภาวะปกติใหม่” (The New Normal) ที่จะมีรูปแบบความต้องการสินค้าและบริการ และการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังปัญหาโควิด-19 ยุติลง

ภายใต้สภาวะปกติใหม่ เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงทำให้การดำรงชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป แต่จะเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจและธุรกิจในเกือบทุกด้าน รวมถึงจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น ผู้คนอาจจะกังวลในการใช้เงินสดหรือธนบัตร เพราะกระดาษอาจเป็นพาหะของเชื้อโรคได้ ทำให้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแบบดั้งเดิมต้องเร่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อเข้าสู่การค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้นอีก

สถาบันการศึกษาก็ต้องพัฒนาไปใช้วิธีการสอนแบบออนไลน์ทดแทนทั้งหมดในช่วงวิกฤต ทำให้ภาครัฐควรเปลี่ยนวิกฤตมาเป็นโอกาสด้วยการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1: ควบคุม ป้องกัน และรักษา โดยการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล ตลอดจนการจัดทำระบบแสดงผลตามพื้นที่ โควิด-19 ต้อนให้เราใช้บริการเทคโนโลยีมากและหลากหลายขึ้น ยิ่งบ่งชี้ว่า การจัดการข้อมูลอย่างมีมาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเดิม ดังนั้น การจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่ของประชากรทุกคน และทุกนิติบุคคลในประเทศ จึงมีความสำคัญ ทำให้การบริหารเหตุการณ์ มีข้อมูลในทุกมิติ

อาทิเช่น ด้านสุขภาพ ด้านการเงิน ด้านการหาความรู้ ด้านการจ้างงาน ภายใต้การดูแลเรื่องความปลอดภัยข้อมูล และ มีข้อมูลสนับสนุนความช่วยเหลือที่ครอบคลุมคนไทยทุกกลุ่ม ภายใต้ความปลอดภัยข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI วิเคราะห์การกระจายตัวของประชากรและผู้ติดเชื้อ ตลอดจนการจัดทำระบบแสดงผลตามพื้นที่ Heat map และ ระบบการบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือที่โปร่งใส Digital Donation Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางการบริจาคสนับสนุนทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งการรวบรวมความต้องการการช่วยเหลือของโรงพยาบาลต่างๆ ไว้ในที่เดียว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ความต่อเนื่องของธุรกิจ โควิด-19 ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ไม่สามารถเดินหน้าได้ ภายใต้กฎระเบียบ เงื่อนไข ขั้นตอนแบบเดิม ดังนั้นรัฐบาล ควรเร่งปลดล็อคอุปสรรคในการทำธุรกิจ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ต่อเนื่อง อาทิเช่น การแก้กฎหมายเพื่อรองรับ การจัดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-GOV), ดิจิทัลไอดี (Digital ID) ที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน, ระบบยืนยันตัวตนออนไลน์ (Online KYC), การลงนามอิเลคโทรนิกส์ (E-Signature), การทำสัญญาออนไลน์ (Smart Contract) เพื่อมาทดแทนการใช้กระดาษ

ซึ่งปัจจุบันกฎระเบียบและกฎหมาย ยังติดขัดอยู่หลายส่วน ดังนั้น ควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสทำให้เกิดขึ้นได้ รวมทั้งการใช้ระบบสื่อสารและโซลูชั่น ที่รองรับการทำงานได้จากทุกที่ (Work at Home) จะทำให้นักธุรกิจจากทั่วโลกสามารถเดินทางมาทำงานในประเทศไทย ดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ รวมถึง การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลรองรับ The New Normal ของการทำธุรกิจและการกลับมาเปิดตัวใหม่อีกครั้งของธุรกิจต่างๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การจ้างงานและพัฒนาคน รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้เป็นการเตรียมคนเพื่ออนาคต โดย มาตรการสนับสนุนบัญฑิตจบใหม่ เฉลี่ยปีละกว่า 5.2 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดคาดว่าร้อยละ 80-90 อาจส่งผลต่อการหยุดชะงักของการจ้างงาน หากรัฐบาลส่งเสริมการจ้างงานชั่วคราวให้กับนักศึกษาจบใหม่ ที่ไม่มีงานทำในระยะนี้ มาเป็นส่วนเสริมในการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การสร้างผู้ช่วยด้านดิจิทัลให้กับผู้อำนวยการโรงเรียนทั่วประเทศ ICT Talent หรือ นำกลุ่มเด็กจบใหม่ที่มีความสามารถด้าน ICT ไปช่วยพัฒนาการศึกษาออนไลน์

ยุทธศาสตร์นี้เน้นการสร้างความรู้ทางดิจิทัล และสมรรถนะทางเทคโนโลยีให้กับประชากรผ่านโครงการ Future Skilling เพื่อยกระดับทักษะของคนไทยทั้งประเทศ โดยให้ทุนกับคนไทยทุกคน มีสิทธิเท่าเทียมกัน ในการลงทะเบียนเรียน เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ ในการดำรงชีพ เพื่อรองรับงานในรูปแบบใหม่ รวมถึงส่งเสริมผู้ประกอบการด้านการศึกษาในประเทศ ให้ทำหลักสูตรออนไลน์

นอกจากนี้ยังสามารถสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก เพื่อให้คนไทยได้เรียนออนไลน์เพื่อเสริมความรู้ยุคใหม่ครบทุกมิติ นอกจากนี้ หากภาครัฐดำเนินการจัดสรรงบประมาณการให้ทุนแก่มหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ในการสร้าง New Skill ด้านดิจิทัล ด้านข้อมูล (Data) และด้าน Automation เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ในกลุ่มคนว่างงาน หากภาครัฐให้เงินสนับสนุนเพื่อการเรียนรู้งานแห่งอนาคต รวมทั้งการจัดทำ Platform ในการหางาน และบริษัทที่ต้องการจ้างงานที่ใช้ Skill ใหม่ และเสนอให้รัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 80% เพื่อรักษาสถานภาพพนักงานที่อุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบอย่างหนัก พร้อมกับการ Re-Skill พนักงาน โดยไม่ปลดออก แต่ต้องสร้างทักษะใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็จะถือเป็นการเตรียมพร้อมคนไทย
สู่อนาคต

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ความมั่นใจในตลาดทุน รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน ตลาดการค้า และการลงทุน เพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง อาทิ เช่น สตาร์ทอัพ ธุรกิจ SME ที่อาจขาดสภาพคล่องในการระดมทุน และ มีการจัดตั้งและกระตุ้นกองทุนต่างๆ ให้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว เพื่อสนับสนุนรายได้ที่ขาดช่วง การขาดกระแสเงินสด และการรักษาพนักงาน

ทั้งนี้เนื่องจาก ในภาวะวิกฤตเช่นปัจจุบันการระดมทุนเต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพที่ดี และมีอนาคต แต่ประสบปัญหาการขาดกระแสเงินสดเป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : เศรษฐกิจใหม่ หรือ Economic Reform นอกจากการวางแผนระยะสั้นแล้ว ควรมีการลงทุนเพื่ออนาคต เตรียมรองรับเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤต ได้แก่ เกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farming) และ การทำการค้าออนไลน์ (E-commerce) รวมถึงการวางแผนพื้นที่การเพาะปลูก (Agrimap/Zoning) การพัฒนาระบบชลประทาน (Digital Irrigation) ให้พื้นที่การเกษตรเข้าถึงน้ำ 100% การป้องกันน้ำท่วม

นอกจากนี้ยังมีเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะดึงดูดบุคลากร ผู้มีความรู้ และนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก การออกแบบเมืองที่มีความปลอดภัยปลอดเชื้อ การป้องกันด้านสาธารณสุข (Preventive Healthcare) การท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เน้นสุขภาพ ไปจนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเสนอยุทธการ “ปลูกน้ำ” 5 ข้อ ซึ่งเป็นการนำที่ดินที่มีน้ำท่วมทุกปี และยามแล้งก็แห้งแล้งไม่สามารถทำการเกษตรได้ มาทำการขุดบ่อลักษณะแก้มลิง และมีการบริหารจัดการขายน้ำ ให้เกษตรกรในราคาถูก นอกจากนี้ยังจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว และมีรายได้จากเกษตรเสิรมอีกมากมาย ซึ่งได้ศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้หาก นำยุทธการฯไปดำเนินการอย่างจริงจังมีประสิทธิภาพและครบถ้วนทุกขั้นตอน ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยโดยการพัฒนาที่ฐานรากของสังคมอย่างแท้จริง เพราะเป็นการสร้างทุนใหม่โดยดึงดูดเงินใหม่จากตลาดทุนโลก สร้างงานใหม่อันหลากหลายเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ใหม่ให้แก่เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง

ที่สำคัญยิ่งคือการสร้างรายได้ใหม่ให้แก่รัฐบาลผ่านการเพิ่มขึ้นของภาษีและอากรต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในทันทีที่เริ่มโครงการ และจะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการเจริญเติบโตของการบริโภค กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการพุ่งขึ้นตามมูลค่าที่ดินที่มีระบบชลประทานครบทั่วประเทศ เกษตรกรไทยจะสามารถปลดหนี้สินที่ได้ก่อมาในอดีตที่เป็นภาระอันหนักอึ้งในคราวนี้

พร้อมกันนี้เกษตรกรรุ่นใหม่จะเกิดขึ้นมาทดแทนรุ่นปัจจุบันซึ่งชราภาพมากแล้ว ด้วยวิทยาการใหม่ของการทำการเกษตรร่วมแปลง การร่วมทำและร่วมเป็นเจ้าของเกษตรแปลงใหญ่และการลงทุนในเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี 4.0 ทั้งหมดนี้จะทำให้การประกอบอาชีพเกษตรกรไม่ใช่งานที่ต้องลำบากตรากตรำอีกต่อไป และยังช่วยลดความเสี่ยงผ่านการลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลงและเสริมสร้างสมรรถนะในแข่งขัน เพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้แม้ในช่วงราคาจะถูกกดดันอย่างรุนแรงจากตลาดโลกก็ตาม

ประเทศไทยจะมีบึงและทะเลสาบกักเก็บน้ำอยู่ทั่วทุกหนแห่งของประเทศซึ่งล้วนเป็น แหล่งเก็บน้ำอันสมบูรณ์ ลดการพึ่งพาแม่น้ำระหว่างประเทศที่ถูกควบคุมโดยประเทศต้นน้ำ บึงและทะเลสาบที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศนี้ไม่เพียงจะเลี้ยงดูการเกษตรในฤดูแล้งเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเป็นเท่าทวีคุณได้รอบปี

แต่ยังเป็นป้อมปราการอันสำคัญใช้ป้องกันภัยน้ำท่วมไม่ให้เป็นภัยได้อีก เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงจับสัตว์น้ำสร้างรายได้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามอีกมากมายที่จะดึงดูดและรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศในโลกสร้างรายได้เข้าชุมชนเข้าประเทศ ที่ดินทั่วไทยจะมีมูลค่าและราคาสูงขึ้นทั้งประเทศพร้อมกัน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและของความสุขสมบูรณ์ของประชาชนไทยโดยทั่วหน้า

ทั้งนี้ประธานธนินท์ กล่าวตอนท้ายว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถือได้ว่ารัฐบาลได้ออกหลายมาตรการที่ดี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องและเห็นผล ดังนั้น โครงการที่เสนอมานี้เป็นเพียงส่วนเสริม ในการบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในเอกสารฉบับนี้ เป็นมุมมองของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งอยู่ที่ภาครัฐจะเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม หากมีคำแนะนำสิ่งใดที่ควรทำเพิ่มเติม เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ