ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม 2565 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทน โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ทยอยปรับดีขึ้นตามการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุนของเอกชนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ส่วนหมวดการก่อสร้างปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม
สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนการผลิตต่อเนื่องจากเดือนก่อน นอกจากนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตบางหมวดปรับลดลง เช่น หมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดยางและพลาสติก
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคมมีจำนวนราว 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติ เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและโลหะไปจีน ประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราวด้านอุปทานในหมวดปิโตรเลียมจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และในหมวดสินค้าเกษตรจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. ประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนกันยายน 2565 ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่
- การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า
- อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว
- การแพร่ระบาดของโควิด และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
สำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ที่จะส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ ชญาวดีระบุว่า เรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาและชั่งน้ำหนักจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แล้ว ซึ่ง กนง. เห็นว่า ภาวะเงินเฟ้อที่สูงจะมีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากกว่า จึงมองว่านโยบายการเงินยังต้องให้น้ำหนักกับการดูแลเงินเฟ้อก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด
ที่มา THE STANDARD WEALTH