เมื่อองค์กรเก่าแก่ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด

สวัสดีครับชาวซีพีที่รัก กลับมากันครบถ้วนนะครับ หลังหยุดกันยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ชาวซีพีคงได้พักผ่อนหนีอากาศร้อนไปเยี่ยมญาติ อยู่กับครอบครัวได้เติมพลังกันเต็มที่

ส่วนผมก็หนีร้อนไปพึ่งเย็นกับเค้าเหมือนกัน แต่ก็ไม่ทิ้งการติดตามข่าวสารบ้านเมืองที่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ผมมีโอกาสได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ให้สัมภาษณ์นสพ.กรุงเทพธุรกิจ มีแง่มุมชวนคิดสะกิดใจเพราะสหพัฒน์ก็ถือเป็นองค์กรเก่าแก่ กว่า 70 ปี แม้จะน้อยกว่าซีพีของพวกเราที่เข้าสู่วัย98ปี

สิ่งที่ประธานสหพัฒน์พูดทำให้ผมนึกถึงท่านประธานอาวุโสของพวกเราที่ความคิดของท่านประธานอาวุโสของพวกเรากับประธานสหพัฒน์คิดคล้ายคิดใกล้เคียงกันเกี่ยวกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กร รับคลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้

แม้ซีพีของเราหรือสหพัฒน์ ซึ่งถือเป็นองค์กรขนาดใหญ่แต่ก็กำลังเดินมาถึงช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของธุรกิจจากการเผชิญสึนามิเทคโนโลยี (ดิจิทัล ดิสรัปชั่น) ที่คนรุ่นเก่าเก๋าประสบการณ์อาจมีพลังไม่พอที่จะต่อกรกับการแข่งขันยุคนี้ เท่ากับ“คนรุ่นใหม่” ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เพราะเข้าถึง “บิ๊กดาต้า” ได้มากกว่า

คุณบุณยสิทธิ์คิดเหมือนท่านประธานอาวุโสของพวกเราว่า“โลกธุรกิจจะเป็นยุคของเร็วกินช้า สมัยก่อนใหญ่กินเล็ก ตอนนี้ใหญ่ไป ถ้าช้าเสร็จเล็ก ถ้าเร็วชนะ ธุรกิจที่จะยืนหยัดบนสังเวียนการค้าขายและคว้าชัยชนะได้ในปัจจุบันและอนาคตนั้น “ไม่จำเป็น” ต้องใหญ่เหมือนในอดีตเสมอไป แต่ต้องติด Speed (ความเร็ว) เมื่อมองขาดธุรกิจในยุคหน้า ทำให้ทั้งซีพีและเครือสหพัฒน์เดินหน้า“ปรับโครงสร้างและเปลี่ยนผ่านองค์กร”ให้แข็งแรง เป็น “ยักษ์ใหญ่เคลื่อนตัวเร็ว” ป้องกันการถูกจู่โจม “ล้มยักษ์” โดยธุรกิจขนาดเล็กที่ขยับเร็วกว่า ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล ให้มีความคล่องตัว ซึ่งต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะมีเรื่องให้ต้องทำค่อนข้างมาก

ท่านประธานอาวุโสของพวกเราและคุณบุณยสิทธิ์มองผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีการซื้อสินค้าผ่านช่องทางใหม่ๆ โดยเฉพาะ “ออนไลน์” มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงใช้อุปกรณ์สื่อสาร เสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ตลอดจนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ทำให้การชอปปิงหน้าร้านกระเทือนยอดขายหดตัวลง และไปโตที่ช่องทางออนไลน์แทน

ขณะที่สินค้าเดิมๆที่เคยทำตลาดและจำหน่ายได้ดีในอดีต ก็เปลี่ยนเป็นขายยากขึ้น และวงจรชีวิตของสินค้า(Life cycle)สั้นลงมาก“ทุกวันนี้ออกสินค้าใหม่อย่าหวังว่าจะอยู่ได้นานๆ แบรนด์ต้องทำการตลาดหรือใส่ปุ๋ยต่อเนื่อง ถ้าไม่ทำตลาดเลยสินค้าจะไม่โตและโดนคู่แข่งแซง”

ทั้งซีพีและสหพัฒน์ให้ความสำคัญกับ “ขุมทรัพย์ข้อมูล” หรือบิ๊กดาต้าอย่างมากเพราะเห็นว่าจะช่วยให้คาดการณ์แนวโน้มตลาด ยอดขายในอนาคตได้ค่อนข้างมาก เป็นเหมือน“เข็มทิศ”ให้ดำเนินุรกิจแม่นยำมากขึ้น

ท่านประธานอาวุโสกับคุณบุณยสิทธิ์คิดคล้ายกัน “คนเก่าเก๋าประสบการณ์ แต่คนที่อายุเลย 60 ปี อาจต้องชิดซ้าย เพราะเข้าไม่ถึงบิ๊กดาต้า เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ เพราะเร็วและรู้โซเชียลมีเดียต่างๆ การรุกใช้บิ๊กดาต้า ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆมารองรับการค้าขาย ขยายช่องทางใหม่ๆ

จากเดิมมุ่งขายสินค้าเฉพาะหน้าร้านทางเดียว ตอนนี้ต้องทำมัลติชาเนล ทุกช่องทาง ส่วนผู้บริโภคเราต้องรู้จักให้มาก อย่างคนไทยใช้เฟสบุ๊คมากสุดในโลก เทคโนโลยี 4G ทำให้การสื่อสารเร็ว ผู้บริโภคมีมือถือจะทำอะไรก็ได้ทั้งซื้อสินค้า ซื้อความสุขได้ทันทีโดยไม่ต้องเข้าไปในศูนย์การค้า ร้านแผงลอยอีกต่อไป”

ในอนาคตทั้งซีพีและสหพัฒน์ยังให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจอาหาร ออนไลน์ และโลจิสติกส์มากขึ้น โดยกลุ่มอาหารมีการเติบโตในทิศทางที่ดีต่อเนื่อง และกลายเป็นสินค้าที่มียอดขายแซงธุรกิจหลักอื่นๆ เช่น แฟชั่น เครื่องสำอาง ฯ มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนไปทางใด ก็ยังต้องบริโภค

เท่าที่ผมมีโอกาสรับทราบ สิ่งที่สหพัฒน์คิดและทำ ซีพีของพวกเราก็คิดและทำอยู่เช่นกัน ทั้งซีพีและสหพัฒน์ เป็นองค์กรใหญ่ มีบริษัทในเครือนับร้อยบริษัท และมีคนทำงานรุ่นเก่าจำนวนมาก ผสมกับคนรุ่นใหม่ ทั้ง 2 องค์กรกำลังทรานส์ฟอร์มสู่ยุคดิจิทัลเพื่อให้องค์กรตามทันการเปลี่ยนแปลงโลก

ครับโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีก้าวกระโดด บริบทสังคม ผู้คนเปลี่ยนแปลง ดังนั้นชาวซีพีทุกคนก็คงต้องยอมรับการปรับตัว รับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน มาครับชาวซีพีมาจับมือไปด้วยกันยึดมั่นในค่านิยมยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกยุคใหม่กันครับ