สำหรับประเทศที่มีนวัตกรรม เชื่อว่าเทรนด์ของการเติบโตรอบใหม่หลัง Covid-19 ผ่านไปก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากการที่ Kaneka บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเคมีของญี่ปุ่นเดินหน้าผลิตวัสดุโพลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ หรือที่บริษัทเรียกว่า PHBH เพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ตันต่อปี หรือ 4 เท่าของกำลังการผลิตในปัจจุบัน
สำหรับความพิเศษของโพลิเมอร์ดังกล่าวคือใช้น้ำมันพืชเป็นวัตถุดิบหลัก และหากถูกทิ้งลงในทะเลหรือดิน พลาสติกเหล่านี้ก็สามารถย่อยสลายได้มากกว่า 90% ด้วย (เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ)
สาเหตุที่เพิ่มกำลังการผลิตดังกล่าวมาจากกฎหมายใหม่ของญี่ปุ่นที่กำลังจะบังคับใช้ในเดือนเมษายนนี้ ที่ระบุให้บริษัทต่าง ๆ ลดการใช้พลาสติกลง ขณะเดียวกัน กฎหมายดังกล่าวก็ทำให้ความต้องการพลาสติกสายกรีนเพิ่มขึ้นด้วย
หนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของ Kaneka ก็คือ 7-Eleven ที่ซื้อหลอดย่อยสลายได้ของ Kaneka ไปใช้ตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวนี้ทำให้ทาง Kaneka คาดการณ์ว่าความต้องการพลาสติกสายกรีนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน 2 – 3 ปีข้างหน้า และได้ตัดสินใจลงทุนขยายโรงงานในจังหวัดเฮียวโกเป็นมูลค่า 15,000 ล้านเยน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็น 100,000 – 200,000 ตัน ต่อปีภายในปี 2030
ข้อมูลจากการวิจัยที่เปิดเผยโดย the National Institute of Advanced Industrial Science ของญี่ปุ่นยังพบว่า สาร PHBH ที่ Kaneka ผลิตขึ้นมานั้น สามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าของบริษัทคู่แข่งราว 50% และไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษมาช่วยในการย่อยสลาย โดยสามารถย่อยสลายได้ในน้ำทะเล หรือในดินได้เลย
อย่างไรก็ดี การใช้งานพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ในระดับโลกนั้นถือว่ายังน้อยมาก โดยมีไม่ถึง 1% ของยอดขายพลาสติกทั้งหมด และพลาสติกจำนวนมากยังคงถูกทิ้งลงในทะเล ส่วนการใช้งานพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้นั้น ทางสมาคม European Bioplastics คาดว่าจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 5.26 ล้านตันภายในปี 2026 หรือเพิ่มขึ้น 40% นับจากปี 2021 โดยนอกจากญี่ปุ่นที่มี Kaneka และ Mitsubishi Chemical เป็นผู้ผลิตรายใหญ่แล้ว ในจีนเอง ก็กำลังสร้างโรงงานผลิตวัตถุดิบดังกล่าวขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นกัน
ที่มา brandbuffet