ภาพโดย 0fjd125gk87 จาก Pixabay
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) ตอกย้ำการเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยนำร่องเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยที่ออก ‘ตราสารหนี้สีฟ้า’ (Blue Bond) หรือ ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล อายุ 5 ปี ในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ใช้ในการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะโดยมีบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) เป็นผู้ลงทุนมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีบีบี (ttb) เปิดเผยว่า ธนาคารมีแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรที่มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ด้วยการผสานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร และหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน (Climate Finance) โดยธนาคารมีบทบาทเชิงรุกสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนให้กับลูกค้าที่ต้องการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อลูกค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในปี 2561 ทีเอ็มบีธนชาตได้เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ออก “ตราสารหนี้สีเขียว” (Green Bond) หรือ ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการตอกย้ำจุดยืนของธนาคารในการส่งเสริมให้ธุรกิจเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งตราสารหนี้สีเขียวแรกของธนาคารมีอายุ 7 ปี มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,850 ล้านบาท) โดยมี IFC เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เงินลงทุนดังกล่าวได้นำไปใช้สนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนใน Climate-smart Projects โดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียน และโครงการที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการขยายสินเชื่อสีเขียวของธนาคาร อีกทั้งยังเป็นการให้ทางเลือกใหม่ของแหล่งเงินทุนสีเขียวระยะยาวในประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก โดยสะท้อนผ่านมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงในปี 2564 ที่มากถึง 90,000 ล้านบาท รวมไปถึงการท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่เศรษฐกิจไทย ทีเอ็มบีธนชาต และ IFC จึงได้ร่วมลงนามออก ‘ตราสารหนี้สีฟ้า’ หรือ ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล อายุ 5 ปี ที่จะมีแผนออกในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดย IFC เป็นผู้ลงทุนมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสององค์กร เพื่อเพิ่มช่องทางใหม่ในการรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนที่ตระหนักและใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และการทำประมงอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ทีเอ็มบีธนชาตยังเชื่อมั่นในการธนาคารที่ยั่งยืนและการเงินที่มีความรับผิดชอบ โดยเป็นธนาคารแห่งแรกที่ใช้นโยบายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Responsibility : ESR Policy) เป็นแนวการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับลูกค้าที่ต้องการขอสินเชื่อใหม่หรือเพิ่มวงเงินเครดิต และการทบทวนเครดิตประจำปีของลูกค้าธุรกิจ ลูกค้าเอสเอ็มอี และการลงทุนของธนาคาร ซึ่งทำให้ทีเอ็มบีธนชาตได้รับคะแนนโดยรวมสูงสุดด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน 3 ปีต่อเนื่องจาก Fair Finance Thailand อีกด้วย
“ธนาคารเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกันระหว่างทีเอ็มบีธนชาตและ IFC ที่มีอย่างต่อเนื่องในโครงการต่าง ๆ ทั้งตราสารหนี้สีเขียวและการออกตราสารหนี้สีฟ้าในประเทศไทยครั้งนี้ รวมไปถึงความร่วมมือต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมของไทยและโลกของเราต่อไป” นายปิติกล่าวสรุป
ที่มา ไทยพับลิก้า