‘แบงก์ชาติ’ เผย บาทแข็งค่า 5% จากสิ้นเดือน ต.ค. สอดคล้องภูมิภาค หลังดอลลาร์อ่อนค่า 3% สู่ระดับต่ำสุดรอบ 3 เดือน

ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวแข็งค่าของเงินภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น จากการคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าอาจผ่อนคลายความเข้มงวดลงได้บ้าง โดยเฉพาะหลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ชะลอลงมากกว่าคาด รวมถึงเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID จากทางการจีน

ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับอ่อนค่าลงกว่า 3% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่เงินบาทปรับแข็งค่าสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินภูมิภาค โดยปรับแข็งค่าขึ้นจากสิ้นเดือนตุลาคมประมาณ 5% โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ นักลงทุนต่างชาติมีฐานะเป็นซื้อสุทธิในหลักทรัพย์ไทยประมาณ 1.07 แสนล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตลาดหุ้นประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรประมาณ 8.9 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565)

ทั้งนี้ ความผันผวนในตลาดการเงินยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูงในระยะถัดไป ภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า กรณีเงินบาทพลิกแข็งค่านั้น ยังต้องระวังความผันผวนจากหลายปัจจัยข้างหน้า

โดยสถานการณ์ล่าสุด เงินบาทพลิกแข็งค่าหลุดแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ (11 พฤศจิกายน) ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ จากการคาดการณ์ว่า Fed อาจปรับลดขนาดการขึ้นดอกเบี้ยให้มีความแข็งกร้าวน้อยลงในการประชุม FOMC รอบถัดๆ ไป

นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีจากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) ในรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ฉบับล่าสุด ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทอาจยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน ดังนั้นผู้ประกอบการและนักลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทยอยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้อาจไม่ได้โน้มไปแบบทิศทางเดียว เพราะยังมีจุดที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งก็คือสัญญาณของ Fed โมเมนตัมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และภาพรวมความเสี่ยงของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

ที่มา THE STANDARD