วันที่ 2 เมษายน 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ผู้บริโภคปัจจุบันยังให้ความสำคัญและสนใจในธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา” หรือ “ธุรกิจสายมู” ซึ่งเป็นอีก 1 ธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยธุรกิจได้เปลี่ยน ‘ความเชื่อความศรัทธา’ ให้เป็นสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดยนำศาสตร์สายมูมาใช้วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด (Muketing : MU + Marketing) ทั้งการตลาดออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงใช้ในการประชาสัมพันธ์สินค้า/บริการ
โดยจัดแคมเปญให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น ผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ (Influencer) ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ความเชื่อ หรือ ผู้มีชื่อเสียงมาสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมด้านอารมณ์/ความรู้สึกกับผู้บริโภค เช่น *วอลเปเปอร์หน้าจอโทรศัพท์มือถือ ที่มีรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือรูปไพ่ต่างๆ *เครื่องแต่งกาย กระเป๋า ของใช้ของตกแต่งบ้าน เช่น ผ้าปูที่นอนที่นำสีมงคลตามวันเกิดเดือนเกิดและปีเกิดเข้ามาเป็นจุดขายทางการตลาด เครื่องประดับต่างๆ สร้อยข้อมือ สร้อยคอ ที่มีการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพิฆเนศ ท้าวเวสสุวรรณ หินมงคลต่างๆ มาออกแบบดีไซน์ในรูปแบบแฟชั่น เครื่องสำอาง ที่นำทองคำปลุกเสกหรือว่านที่มีความเชื่อว่าเสริมศิริมงคลต่างๆ มาเป็นส่วนผสม
หมายเลขโทรศัพท์มงคล ที่มีกลุ่มตัวเลขมงคลที่ผู้ใช้มีความเชื่อว่าจะส่งพลังในด้านต่างๆ ให้กับผู้ใช้งาน รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร ได้นำศาสตร์ความเชื่อความศรัทธามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การออกแบบให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ย การปรับเปลี่ยนสีของตัวบ้านและห้องต่างๆ ให้ถูกโฉลกกับผู้ซื้อ หรือ การตกแต่งบ้านที่ตรงกับดวงชะตาของผู้บริโภค เป็นต้น
ปี 2562 – 2566 ธุรกิจด้านความเชื่อและความศรัทธามีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบในแต่ละปี โดยปี 2562 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 15.4 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 11 ราย ทุน 7.59 ล้านบาท (ลดลง 7.81 ล้านบาท หรือ 50.71%) ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย (เพิ่มขึ้น 9 ราย หรือ 81.81%) ทุน 13.41 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5.82 ล้านบาท หรือ 76.70%) ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย (เพิ่มขึ้น 4 ราย หรือ 20.00%) ทุน 27.45 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.04 ล้านบาท หรือ 104.70%) และ ปี 2566 จัดตั้ง 33 ราย (เพิ่มขึ้น 9 ราย หรือ 37.50%) ทุน 26.88 ล้านบาท (ลดลง 0.57 ล้านบาท หรือ 2.08%) ขณะที่ เดือนมกราคม-มีนาคม 2567 จัดตั้ง 12 ราย ทุน 7.51 ล้านบาท
ผลประกอบการของธุรกิจ รายได้รวมของธุรกิจเปรียบเทียบในแต่ละปี โดยปี 2562 อยู่ที่ 24.28 ล้านบาท สินทรัพย์ 49.54 ล้านบาท กำไร 1.12 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 28.76 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.47 ล้านบาท หรือ 18.43%) สินทรัพย์ 47.31 ล้านบาท (ลดลง 2.23 ล้านบาท หรือ 4.50%) กำไร 1.52 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.40 ล้านบาท หรือ 35.71%) และ ปี 2564 รายได้รวม 61.28 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 32.52 ล้านบาท หรือ 113.07%) สินทรัพย์ 71.07 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 23.76 ล้านบาท หรือ 50.23%) ขาดทุน 1.86 ล้านบาท (ลดลง 3.38 ล้านบาท หรือ 222.37%) และ ปี 2565 รายได้รวม 148.99 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 87.71 ล้านบาท หรือ 143.13%) สินทรัพย์ 103.32 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 32.25 ล้านบาท หรือ 45.38%) ขาดทุน 1.7 แสนบาท (ขาดทุนลดลง 1.69 ล้านบาท หรือ 90.86%)
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567) ธุรกิจความเชื่อความศรัทธามีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ทั้งหมด แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 108 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 26 ราย คิดเป็นสัดส่วน 80.60% และ 19.40% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ ในขณะที่ทุนจดทะเบียนรวมแบ่งเป็น บริษัทจำกัด 116.64 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 19.25 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85.83% และ 14.17% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนโดยสัญชาติไทย
ทั้งนี้เมื่อแบ่งตามพื้นที่ตั้งธุรกิจ มีธุรกิจตั้งอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 62 ราย คิดเป็น 46.27% ของธุรกิจ ทั้งประเทศ และมีทุนจดทะเบียน 63.46 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ที่มีธุรกิจตั้งอยู่แบ่งตามภาค ได้แก่ ภาคกลาง 35 ราย ทุน 34.34 ล้านบาท ภาคตะวันออก 13 ราย ทุน 11.05 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 ราย ทุน 6.55 ล้านบาท ภาคเหนือ 7 ราย ทุน 2.99 ล้านบาท ภาคใต้ 6 ราย ทุน 14.40 ล้านบาท ภาคตะวันตก 4 ราย ทุน 3.10 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.12% 9.70% 5.22% 5.22% 4.48% 2.99% ของธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ตามลำดับ
นอกจากนี้ หลายจังหวัดใช้กระแสความเชื่อความศรัทธาเป็นไฮไลท์ท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าท้องถิ่น เป็นการท่องเที่ยว ‘เชิงศรัทธา’ โดยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่นิยมมาท่องเที่ยวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย เนื่องจากมีรากฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาถือเป็นรายได้สำคัญสำหรับไทย สามารถกระจายรายได้สู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าชุมชุม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นช่วย “กระตุ้นระบบเศรษฐกิจ” โดยรวมของประเทศได้เป็นอย่างดี
ธุรกิจความเชื่อความศรัทธา หรือ ศาสตร์มูเตลู ได้รับความนิยมจากทุกกลุ่มอายุ โดยแต่ละกลุ่มอายุจะมีวิธีการ มูเตลูที่แตกต่างกัน ซึ่งกลุ่มที่มีความเชื่อค่อนข้างสูงได้แก่ กลุ่ม Gen Z โดยการเข้าถึงข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากสื่อโซเซียลมีเดีย ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Z ที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุดกว่าทุกช่วงกลุ่มวัย หากธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้า และส่งเสริมการตลาดได้ตรงกลุ่ม ย่อมส่งผลต่อโอกาสในการขายสินค้าและบริการได้สูงขึ้นเช่นกัอย่างไรก็ตาม ธุรกิจกิจกรรมด้านความเชื่อความศรัทธามีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบปริมาณของผู้ประกอบธุรกิจด้านความเชื่อในตลาด ส่วนใหญ่นิยมประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดา จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจ หากต้องการให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือหรือขยายธุรกิจสู่การให้บริการอื่นๆ การจดทะเบียนนิติบุคคลจะมีส่วนช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือและต่อยอดทางธุรกิจได้หลากหลายมากขึ้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ