ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า Trend และ Future Insight คือหัวใจสำคัญของธุรกิจยุคใหม่ที่ใช้ขับเคลื่อนการเติบโตสู่อนาคต ผู้บริโภคคนไทยได้เห็นข่าวสารการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ข้ามชาติ รู้กระแสความยั่งยืนที่เข้ามากระทบ รวมไปถึงการได้ใช้งานแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศ จึงมีความคาดหวังว่าจะได้รับบางอย่างจากผู้ประกอบการไทยด้วย
รู้ทัน…ความคาดหวังผู้บริโภค
ความคาดหวังของผู้บริโภคจะส่งผ่าน 9 มิติของการใช้ชีวิต (9-Life Dimensions) จากค่านิยม 3 เรื่อง ได้แก่
1) เศรษฐกิจตามใจ อยากได้อะไรต้องได้ ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเป็นผลพวงจาก Technology Disruption
2) ยอมจ่ายแพง เพื่อแลกกับประสบการณ์แปลกใหม่ ไม่เน้นการถือครองสินทรัพย์
และ 3) นิยมการเช่ามากกว่าเป็นเจ้าของ ค่านิยมนี้เริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่ง 9 มิติของการใช้ชีวิต จะนำมาสู่ความคาดหวังของผู้บริโภคว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2030 ดังนี้
1. มิติด้านที่พักอาศัย มีอาณาเขตของตัวเองในที่พักอาศัย แต่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี ครอบครัวไซส์เล็กสร้างความสัมพันธ์ผ่านโลกเสมือน ยอมแลกความเป็นส่วนตัวเพื่อความสะดวกที่เพิ่มขึ้น และมีหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยภายในบ้าน
2. มิติด้านการทำงาน ทำงานเพื่อปลดล็อกศักยภาพการทำงานได้สูงสุด มีวัฒนธรรมการร่วมมือ ความแตกต่างหลากหลายที่เปิดเข้าหากัน ทำงานได้หลายหน้าที่ และเข้าถึงทุกที่ สายบังคับบัญชาที่ลดน้อยลง เน้นกระจายอำนาจ เลือกทำงานเฉพาะที่ถนัด ร่วมมือกับหลายแห่ง
3. มิติด้านการบริโภค บริโภคตามความต้องการ และให้ความสำคัญกับคุณค่าของประสบการณ์ ผู้บริโภคเริ่มไม่ยึดติดแบรนด์ อิทธิพลจากสังคม การรีวิว การให้เรตติ้ง มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ รวมถึงการบริโภคแบบร่วมแบ่งปัน เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
4. มิติด้านการเงิน เงินสดรูปแบบใหม่ที่เข้าถึงได้ การทำธุรกรรมการเงินที่ราบรื่น ใช้เงินโดยไม่ต้องจับเงิน (Cashless) มีความเสี่ยงของค่าเงินจากการมีผู้ออกเงินตราเพิ่มขึ้น
5. มิติด้านการเรียน การเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ได้จริง ใช้ได้ทันที และสามารถเปลี่ยนเป็นรายได้ ความรู้พร้อมใช้ การเรียนรู้แบบร่วมมือผ่านเทคโนโลยี วางแผนความก้าวหน้าในเส้นทางเฉพาะบุคคล
6. มิติด้านการเข้าสังคม การมีหลากหลายอัตลักษณ์ในหลายบทบาท ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน สังคมแตกเป็นกลุ่มย่อย ความเป็นชาติจางลง ความเป็นกลุ่มชัดขึ้น ตื่นตัวด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความสำเร็จทางสังคมคือการเติมเต็มตัวตน ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสินค้าและบริการ
7. มิติด้านการใช้เวลาว่างและดูแลจิตใจ ผู้คนจะโหยหาสัมผัสของความเป็นมนุษย์ เห็นคุณค่าการใช้ชีวิตที่เนิบช้า ให้คุณค่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการสร้างประสบการณ์แบบเสมือนจริง
8. มิติด้านการเดินทาง การเดินทางที่ต่อเนื่องไร้รอยต่อ สามารถคาดการณ์ได้ และรูปแบบการเดินทางที่ไม่ต้องเสียเวลาระหว่างทาง
9. มิติด้านการดูแลสุขภาพ มีส่วนร่วมในการจัดการกับสุขภาพของตนเอง คือ การปลดล็อกขีดจำกัดความเป็นมนุษย์และเทคโนโลยี ที่เพิ่มสมรรถนะความคิดและความทรงจำ ติดตามสถานะร่างกายตนเองแบบเรียลไทม์ และวินิจฉัยโรคด้วยตนเองผ่านอุปกรณ์ Wearable
เทรนด์ธุรกิจอาหารอนาคต 2025
แนวโน้มการบริโภคอาหารของผู้คนในอนาคตจะผูกพันกับ 3 เรื่องใหญ่ 1) กินเพื่อสุขภาพ พัฒนาไปสู่อาหารการกินเพื่อสุขภาพ 2) กินเพื่อเข้าถึงประสบการณ์ “อยู่เพื่อกิน” เน้นเข้าถึงประสบการณ์ใหม่ ๆ และ 3) กินเพื่อโลก การอุปโภคบริโภคที่ทำร้ายโลกน้อยที่สุด ซึ่งนำไปสู่แนวโน้มธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ภายใต้ 6 ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ดังนี้
1. กินเพื่อสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ โภชนาการเฉพาะบุคคล เช่น Medical Food ในรูปแบบเจลลี่เสริมสารอาหาร หรือ ไอศกรีมที่กินก่อนนอน ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น และอาหารประเภทหมักดองมาแรง เช่น เจลลี่คอมบูชาที่อุดมด้วยพรีไบโอติกส์
2. กินเพื่อรับประสบการณ์แปลกใหม่ มื้อแปลกเกินจินตนาการ เช่น ชานมไข่มุกท็อปปิ้งด้วยหมูสามชั้น
3. กินเพื่อเสพเรื่องราวและอัตลักษณ์ การนำวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ไข่ผำของภาคเหนือและภาคอีสานนำมาใส่ในเมนูอาหาร ต่างชาติเรียกว่าเป็นไข่ปลาคาเวียร์เขียว หรือ โกจิโซจู ผสมสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา เป็นแอลกอฮอล์ที่ดีต่อสุขภาพ
4. กินเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้โลกดีขึ้น เช่น ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ประหยัดน้ำ ผงแมลงที่ช่วยเพิ่มโปรตีนในอาหาร และ Plant-Based Meat ที่มีความเหมือนเนื้อสัตว์และอร่อยยิ่งกว่าเดิม
5. สร้างความมั่นใจ ปลอดภัย สะดวก และประสิทธิภาพสูงในการกิน Food Tech มาในรูปแบบ Smart Packaging เช่น บรรจุภัณฑ์ที่มีฉนวนกันความร้อนจากกระดาษแข็งที่นำมารีไซเคิลได้ หรือการใช้ 3D Printing มาออกแบบอาหารที่ง่ายต่อการกลืนของผู้สูงอายุ
6. กินเพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น กินแล้วสวย ควบคุมน้ำหนักได้ เช่น นำคอลลาเจนมาเป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
เปลี่ยนเทรนด์เป็นกลยุทธ์ธุรกิจ
เมื่อเจาะลึกไปยังเทรนด์ธุรกิจเครื่องดื่ม อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตที่ผู้บริโภคคนไทยให้การตอบรับ สามารถนำไปวางเป็นกลยุทธ์ของธุรกิจได้ดังนี้
- โฟกัสเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการใช้ซ้ำ ผลิตภัณฑ์กระบวนการผลิต ควรออกแบบให้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน และสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าองค์กรธุรกิจหรือแบรนด์ตระหนักและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
- ตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลสุขภาพ ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เติมเต็มการดูแลสุขภาพองค์รวม และความสามารถในการวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง เช่น Personalized Nutrition ที่มีการตรวจประเมินสุขภาพด้วยตนเอง และมีคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่ควรกินเพื่อสุขภาพที่ดี
- บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ผ่านอาหารและเครื่องดื่ม และตอบโจทย์การกินให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น
- ต่อยอดความครบวงจร ต่อยอดสินค้าและบริการให้เกิดความครบวงจรกับชีวิตของลูกค้า เพื่อเพิ่มรายได้ที่มากขึ้น รวมถึงการจับจ่ายที่ตอบสนองผู้บริโภคอย่างครบวงจรในทุกพื้นที่ เช่น การรับชำระเงินที่หลากหลาย ครบทุกความต้องการ โดยทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์ธนาคารก็รองรับและเข้าถึงได้ง่าย เช่น การติดตั้งเครื่องรูดบัตรเครดิตและบัตรเดบิต หรือ ttb smart shop ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถชำระเงินได้ด้วย QR Code และยังมีรายงานวิเคราะห์ข้อมูลภาพรวมร้านค้า สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยตอบสนองและต่อยอดในแง่ของบริการ สร้างความประทับใจได้ดียิ่งขึ้น
- ใส่ใจบริหารมุมมองความคิดเห็นของสังคมผู้บริโภค โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ เพราะผู้บริโภคจะเลือกสินค้าและบริการ โดยให้น้ำหนักกับมุมมองความคิดเห็นของสังคมหรือบุคคลที่เคยใช้ มากกว่าข้อมูลจากแบรนด์
จากเทรนด์และกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ finbiz by ttb หวังว่าผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนธุรกิจเพื่อพิชิตใจผู้บริโภคคนไทย และเปิดประตูเข้าไปนั่งในหัวใจผู้บริโภคในตลาดโลกได้ไม่ยากนัก
ที่มา: งานสัมมนา finbiz connect the future for growth เชื่อมเทรนด์ธุรกิจอนาคต สู่กลยุทธ์การเติบโตยั่งยืน โดย finbiz by ttb