คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้รับเกียรติจากสมาคมกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ให้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “โลกใหม่ ควรจัดการศึกษาอย่างไร ให้ก้าวทันยุคโลกเปลี่ยน” ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ณ โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น จ.ระยอง โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการศึกษาของไทย จากทั่วประเทศกว่า 1,340 คน ร่วมฟังอย่างคับคั่ง ในการบรรยายคุณศุภชัยได้นำเสนอวิสัยทัศน์ “Sustainable Intelligence” หรือ SI Model เพื่อเตรียมประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์และเทคโนโลยีต้องอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ไม่ใช่แค่การมีทักษะ แต่ต้องมีกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น มีคุณธรรม และพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมชี้ว่า การปรับตัวของระบบการศึกษาไทยเป็น “กุญแจสำคัญ” ที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต โดยได้เปิดมุมมองโลกอนาคตผ่าน 3D ได้แก่ Digitalization การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล Deglobalization ความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ และ Decarbonization การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สะท้อนว่าเราไม่สามารถคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกอนาคตได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่อยู่รอด จึงไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวได้ดีที่สุด ซึ่งหมายรวมถึงระบบการศึกษาไทยที่ต้องพัฒนาให้เด็กไทยสามารถ คิดเป็น ทำเป็น ปรับตัวได้ และมีคุณธรรม
คุณศุภชัย นำเสนอวิสัยทัศน์ “Sustainable Intelligence” หรือ SI Model ประกอบด้วย 5 แกนสำคัญ ได้แก่ ตัวชี้วัดใหม่ เนื่องจากระบบประเมินต้องสะท้อนศักยภาพของผู้เรียน รวมถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และคุณค่าทางจิตใจ การส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนและส่งเสริมสื่อคุณธรรม การสร้างผู้นำในสถานศึกษาและการให้ค่าตอบแทนที่สะท้อนคุณค่าเพื่อสร้างเเรงจูงใจเพื่อดึงดูดคนเก่ง คนดี มาเป็นบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการเรียนสอนเพื่อให้เด็กเป็นนักค้นคว้าวิจัย พร้อมปลูกฝังคุณธรรม และ การใช้เทคโนโลยีเพื่อความเท่าเทียม โดยสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนมีคอมพิวเตอร์สีขาว พร้อม AI ที่คัดกรองเนื้อหาที่ปลอดภัย ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งความรู้บนโลกออนไลน์อย่างเท่าเทียม และหากรัฐจัดให้เด็กไทยทุกคนมีอุปกรณ์เรียนรู้ที่มีคุณภาพ พร้อมแนวทางให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ และลงมือทำ จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มศักยภาพให้เด็กไทยทุกคนอย่างแท้จริง
คุณศุภชัย ได้เน้นย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านการศึกษาไทยจากยุค 2.0 สู่ 5.0 ว่า ระบบการศึกษาไทยยังติดอยู่ในยุค 2.0 ที่เน้นให้เด็กท่องจำและทำตามคำสั่ง ขณะที่โลกยุค 5.0 ต้องการคนรุ่นใหม่ที่คิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น และมีความคิดสร้างสรรค์ คุณครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนเป็น Facilitator หรือโค้ช ที่สามารถสังเกตและดึงศักยภาพของเด็กออกมา โดยที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข รู้สึกปลอดภัย และมีความมั่นใจ ทั้งนี้การพัฒนาระบบการศึกษา ต้องอาศัยศักยภาพของภาคเอกชนด้วย ในการเป็นหุ้นส่วนการเรียนรู้ โดยเสนอให้ภาคธุรกิจเข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน หรือเป็น Learning Center ของชุมชน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฟาร์ม หรือโรงงานในท้องถิ่น สามารถเป็นพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้จริง และประสานความร่วมมือเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับการศึกษาและดึงดูดการลงทุนระดับโลก
ในช่วงท้ายของการบรรยาย คุณศุภชัย ยังได้กล่าวถึงบทบาทของผู้อำนวยการโรงเรียน ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ต้องมาจากความเชื่อของผู้นำ ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นทั้งพ่อและแม่ของโรงเรียน ต้องมีวิสัยทัศน์มองอนาคตข้างหน้า โดยต้องไม่กลัวความล้มเหลว และต้องเป็นผู้นำที่ดี และมี young at heart คือมีหัวใจที่มีพลังเหมือนคนหนุ่มสาว พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตลูกหลาน โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงเรียน ชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ