ตกผลึกความคิดการบริหารธุรกิจและบริหารคนในมุมมองของนักธุรกิจผู้คร่ำหวอดและประสบความสำเร็จคนหนึ่งของประเทศไทย ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ กับมุมมอง “นักเปลี่ยนแปลง” ในรายการ “ถามอีก กับอิก TAM-EIG โดย อิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข | ครั้งแรกกับการเปิดเผย “ความฝันของเจ้าสัวธนินท์ ที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำ”
คุณธนินท์ ให้มุมมองว่า….สมัยก่อนองค์กรใหญ่ๆ อาจจะใช้เวลา 50-60 ปี ถึงจะขยับปรับเปลี่ยน แต่สมัยนี้อาจจะทุก 10 ปีก็เปลี่ยน และต่อไปอาจจะเปลี่ยนทุกปี เพราะโลกเร็วเหลือเกิน ดังนั้นต้องเตรียมพร้อม ทั้งข่าวสาร ความรู้ ของใหม่ๆยิ่งเกิดขึ้นมากเท่าไหร่ การเปลี่ยนนแปลงยิ่งเร็วมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น หลักคิดสำคัญ คือ “เร็วและต้องมีคุณภาพ” และต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง
ในฐานะ “นักเปลี่ยนแปลง” ได้สะท้อนแนวคิดการบริหารคนในยุค 4.0 ว่า หลักการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ทันโลก เราต้องเปลี่ยนจากข้างนอกเข้าข้างใน นั่นคือ เรื่องใหม่ภารกิจใหม่ ต้องเอาคนใหม่มาทำงานให้คนเก่าเห็น ส่วนคนเก่ามีหน้าที่สนับสนุนและเรียนรู้ไปด้วยกัน
- “ผมสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ ไม่ได้ดูถูกเขา แต่เรียนรู้กับเขาไปด้วย”
- “ผมเชื่อมั่นว่า คนรุ่นใหม่ไม่ธรรมดา เราต้องให้เวที ให้โอกาส ให้อำนาจ สนับสนุนเขา”
สิ่งสำคัญคือ ให้ความสำคัญกับ “การลงมือทำ” และ “เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่” มีเวทีให้ลองผิดลองถูก
สิ่งที่ยากที่สุดในมุมนักเปลี่ยนแปลงในความคิดของประธานอาวุโส “ธนินท์” คือ…
“ผมมีความเชื่อว่าประสบการณ์ของคนยุคเก่าบางเรื่องก็ใช้ไม่ได้ เพราะคนละยุคคนละสมัย คุณยังฝันหวานเรื่องเก่าที่คุณเคยทำสำเร็จไม่ได้ ต้องยกทิ้งซะ”
“เราต้องกล้าให้เด็กทำ พวกคุณไม่ต้องกลัวผิด ผมไม่กลัว ผิดเป็นครู แต่ผมกลัวที่สุดคือผิดซ้ำ ผมดูจากตัวผมเป็นคนทำของใหม่ตลอดแล้วมันผิด แต่ผิดก็แก้ไข ซึ่งผมมีอำนาจที่จะแก้ ดังน้ันเวลาจะสร้างคนรุ่นใหม่ต้องให้เขามีอำนาจแก้ ไม่ใช่ให้เขาคอยถามหัวหน้าเขาว่า แก้ได้หรือไม่ หัวหน้าจะไปรู้อะไร หัวหน้าไม่ได้อยู่หน้างาน”
…ผมทำงานตั้งแต่อายุ 19 ปี ผมอยู่ว่างไม่เป็น การทำงานคือการฝึกฝน
ในชีวิตผมมีแต่การทำของใหม่ๆ ชีวิตผมเป็นนักเปลี่ยนแปลง และวันนี้ก็กำลังเปลี่ยนแปลงเครือซีพีให้ก้าวทัน 4.0
ติดตามชมบทสัมภาษณ์ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์
Source: Youtube Channel “ถามอีก กับอิก TAM-EIG โดย อิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข
| ครั้งแรกกับการเปิดเผย “ความฝันของเจ้าสัวธนินท์ ที่อยากทำ แต่ยังไม่ได้ทำ”