ในห้วงเวลาที่ไทยและทั่วโลกเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยเราได้เห็นพลังน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งจากภาคธุรกิจ คนมีชื่อเสียง คนธรรมดาทั่วไป ที่บริจาคเงิน บริจาคอุปกรณ์การแพทย์ มอบอาหารให้โรงพยาบาล มอบเงิน และมอบอาหารให้คนที่ได้รับผลกระทบ
หนึ่งในคนจากตระกูลดังที่ทำโครงการดีๆ ก็คือ คุณ มาริษา เจียรวนนท์ ภรรยาคุณ สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง โครงการเชฟแคร์ (Chef Cares) ที่ได้เชิญชวนเชฟชื่อดังระดับประเทศมาร่วมรังสรรค์อาหารจากใจมอบให้บุคลากรการแพทย์
แม้จะย้ายมาอยู่เมืองไทยได้ยังไม่เต็ม 4 ปี แต่ด้วยความเป็นสมาชิกครอบครัวเจียรวนนท์ คุณมาริษาก็ย่อมมีความผูกพันกับเมืองไทยเหมือนๆ กับสมาชิกในครอบครัว เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดขึ้น มาริษาจึงห่วงประเทศไทย ห่วงชาวไทย และคิดว่าจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง
ประจวบเหมาะกับที่ เชฟ วุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร ส่งข้อความมาบอกว่า อยากให้ช่วยสนับสนุนการมอบข้าวกล่องให้โรงพยาบาลที่ภูเก็ต มาริษาคิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้งโครงการเชฟแคร์ขึ้นมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ก่อนจะขยายมาทำโครงการในกรุงเทพฯวันที่ 20 เมษายน
คุณมาริษาได้ขอการสนับสนุนจากบริษัทในซีพี กรุ๊ป โดยซีพีเอฟที่สนับสนุนวัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์และไข่ ส่วนเจียไต๋สนับสนุนผัก ซึ่งทั้งสองบริษัทก็คัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดมามอบให้โครงการนี้ อย่างเช่น เนื้อไก่ ก็เลือกไก่เบญจา ซึ่งเป็นโปรดักต์ไก่ที่ดีที่สุดของบริษัท เนื้อหมูก็เลือกหมูคุโรบูตะ ซึ่งดีที่สุดอีกเช่นกัน
เรื่องวัตถุดิบนั้นไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง ได้รับการสนับสนุนอย่างดี แต่ที่มาริษาลุ้นมากคือการเชิญชวนเชฟชื่อดังมาร่วมโครงการ ไม่รู้ว่าเชฟจะมาร่วมหรือไม่เพราะในสถานการณ์แบบนี้เชฟเองก็ลำบากเหมือนกัน เนื่องจากภัตตาคาร-ร้านอาหารต่างก็ปิดให้บริการ หรือเปิดได้ก็ไม่เหมือนปกติ
แต่เรื่องเชฟก็ไม่ยาก เพราะเชฟทุกคนก็มีจิตใจอยากทำการกุศลอยู่แล้ว จึงมีเชฟชื่อดังตอบตกลงเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 40 คน ยกตัวอย่างเช่น เชฟวุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร, เชฟสมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟประเทศไทย, เชฟทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟ, ม.ล.พวง ทินกร, เชฟวิชิต มุกุระ, เชฟศุภจิตรา ศุกรวรรณ ทินกร, เชฟสุภิญญา จันสุตะ (เจ๊ไฝ), เชฟชุมพล แจ้งไพร, เชฟธนินทร จันทรวรรณ, เชฟแดน บาร์ค เชฟกมล ชอบดีงาม และเชฟอายุษกร อารยางกูร
คุณมาริษาย้ำหลายครั้งว่า “โครงการนี้เชฟคือพระเอก” และบอกว่าตัวเธอเองไม่ใช่ founder แต่เป็น cofounder โดยมีเชฟทุกคนเป็น cofounder
“เราเป็น cofounder ไม่ใช่ founder เพราะดิฉันคิดว่าเชฟทุกคนเป็น cofounder เชฟเป็นพระเอก เชฟบางท่านครีเอตเมนูและตั้งชื่อเมนูอาหารด้วย ใส่ใจในการทำอาหารมาก แต่ละท่านก็คิดว่าจะทำยังไงให้อาหารมีคุณภาพมากที่สุด ทำยังไงให้อร่อยที่สุด และเห็นได้ชัดว่าแต่ละท่านมีความเป็นเอกลักษณ์มาก การเป็นเชฟดังๆ อย่างเชฟมิชลิน และมาสเตอร์เชฟ เขาไม่ใช่แค่มีฝีมืออย่างเดียว แต่ต้องมีแพสชั่น และทำงานหนักด้วย ซึ่งเราก็คิดว่าโชคดีที่ครั้งนี้เชฟเก่ง ๆ มาร่วมด้วย”
ฝั่งตัวแทนเชฟก็บอกว่า ตอบตกลงเข้าร่วมโครงการนี้โดยไม่ต้องตัดสินใจ เพราะรู้ได้ทันทีว่าเป็นโครงการที่ดี การเข้าร่วมก็เหมือนได้ร่วมอนุโมทนาบุญ และพอเข้ามาทำแล้วรู้สึกมีความสุข
“รู้สึกภูมิใจ เพราะปกติเราก็ทำแต่งานของเรา แต่เราก็อยากช่วย เพราะบุคลากรทางการแพทย์เป็นแนวหน้าที่เสี่ยงกับไวรัส เขาเสี่ยงเขาทำงานเพื่อพวกเรา เราก็อยากจะส่ง message ให้เขารับรู้ว่าขอบคุณครับสำหรับสิ่งที่คุณหมอและคุณพยาบาลทำให้เรา ให้เขารู้ว่าเราตระหนักนะ เรารับรู้นะว่าพวกคุณทำงานหนักและเสี่ยงเพื่อเรา” ตัวแทนเชฟดังที่ร่วมโครงการเชฟแคร์กล่าว
โครงการเชฟแคร์นำอาหารไปมอบให้โรงพยาบาลจำนวน 14 แห่ง ซึ่งเลือกจากโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวอยู่จำนวนมาก โดยมอบสัปดาห์ละ 2 โรงพยาบาล ต่อเนื่อง 7 วัน วันละ 300 กล่องโดยสลับหมุนเวียนเชฟที่มารังสรรค์เมนูอาหาร วันละ 2 ท่าน ส่วนมาริษาเจ้าโปรเจ็กต์ก็ไปเยี่ยม-พูดคุยกับเชฟและนำอาหารกลับมาชิมเองทุกวัน
ไม่เพียงแค่วัตถุดิบที่ดีที่สุด การรังสรรค์เมนูอาหารโดยเชฟชั้นนำ แม้แต่กล่องบรรจุอาหารก็คัดสรรอย่างดี โดยเลือกกล่องกระดาษแบบฟู้ดเกรดที่ออกแบบให้เหมาะสมกับอาหาร นอกจากนั้น ยังมีการพิมพ์ข้อความจากเชฟแต่ละคนแปะบนหน้ากล่อง เพื่อสื่อสารไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
คุณมาริษาบอกว่า การทำโครงการนี้นอกจากการได้มอบอาหารเพื่อเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว เธออยากให้โครงการนี้อินสไปร์คนรุ่นใหม่ให้อยากทำอาชีพเชฟ เพราะประเทศไทยกำลังจะเป็น gastronomy tourism hub ของประเทศละแวกนี้ ซึ่งยังต้องการเชฟอีกเยอะ และโดยส่วนตัวเธออยากให้การที่เธอทำโครงการนี้ไปอินสไปร์คนอื่นๆ ว่า การทำการกุศลไม่ได้เป็นเรื่องของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ใครๆ ก็สามารถทำได้
“คนไทยมีวัฒนธรรมเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เห็นอกเห็นใจกันอยู่แล้ว คนไทยรู้จักทำบุญมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นไลฟ์สไตล์ของคนไทย ก็เลยเห็นว่าพอวิกฤตนี้เกิดขึ้น คนไทยนี่เยี่ยมที่สุดแล้วทั่วประเทศในเรื่องการช่วยเหลือกัน ก็เลยอยากจะอินสไปร์ทุก ๆ คนไม่ว่าจะผู้ชายผู้หญิง ใครๆ ก็สามารถทำได้”
ในตอนแรกคุณมาริษาคิดว่าจะทำโครงการนี้เป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่พอทำมาได้เดือนกว่าๆ เธอคิดว่าอยากจะทำต่อ แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบและกลุ่มเป้าหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ในระยะต่อไปอยากให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเมื่อไม่มีผู้ป่วยแล้วกลุ่มต่อไปที่เธออยากมอบอาหารให้คือ คนชราที่อยู่ในบ้านพักคนชรา และเนิร์สซิ่งโฮมต่าง ๆ เพราะอยากให้คนชราได้ทานอาหารอร่อยและได้มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต
“อยากจะทำต่อ แต่เป็นการบ้านนะคะว่าจะเป็นรูปแบบไหน ทำยังไงที่จะทำให้มันยั่งยืนได้ ตอนนี้เราได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ แต่เราจะขอซีพีเอฟตลอดก็ไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีของเราเองที่จะอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืน” คุณมาริษากล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ