“เจียไต๋” ผนึก “ซีพี” เข้าสู่ปีที่ 101 เร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ตั้งเป้าหมายสู่ “เซอร์วิส โพรไวเดอร์ โซลูชัน” บริการนวัตกรรมเกษตรครบวงจร ดันยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เพิ่มรายได้เกษตรกร เร่งแบรนด์ “เจียไต๋ฟาร์ม” ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ หนุนเทคโนฯ ดึงรุ่นใหม่เป็นเกษตรกร
ผ่านปีที่ 100 ได้อย่างมั่นคง สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้ซีพี โดยในปี 2563 “ซีพี” มีรายได้รวม 2.14 ล้านล้านบาท รายได้สัดส่วน 58% จากจากธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร
ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของ “ซีพี” ขับเคลื่อนผ่าน 11 บริษัท หลัก โดยในไทยมี บริษัท เจียไต๋ จำกัด , บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ , บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด , บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด , บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ การเกษตร จำกัด , บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จำกัด
ส่วนในจีน มี C.P.China , C.P.Pokphand , Charoen Pokphand Enterprise (Taiwan)
สำหรับ บริษัท เจียไต๋ จำกัด ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ซีพี” หลังจากมีการเปิดห้าง “เจียไต้จึง” ทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ บนถนนทรงวาด ย่านเยาวราช เมื่อปี 2464 โดยเจียไต๋ ยังครองสัดส่วนการตลาดเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง ในด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ที่พร้อมปฏิวัติวงการเกษตรใช้ตลาดนำการผลิต ส่งเสริมเทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาสิ่งใหม่ๆเติบโตเคียงข้างกับเกษตรอย่างยั่งยืน
คุณมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจียไต๋ จำกัด เปิดเผยว่า เจียไต๋ เริ่มจากร้านขายเมล็ดผักเล็กๆ บนถนนทรงสวัสดิ์ เมื่อ 100 ปี ที่ผ่านมา มีการบริหารจัดการแบบเถ้าแก่หลงจู้ และธุรกิจผ่าน Big Move มาหลายครั้ง ก่อนจะกลายมาเป็นห้างส่งขายต่างจังหวัดและส่งออกอย่างในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านเมล็ดพันธุ์จากภาคการเกษตรของไทย ซึ่งในอดีตนิยมเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เองเพื่อปลูกต่อ แต่เจียไต๋ ทำให้เห็นว่าการคัดเมล็ดพันธุ์มีความจำเป็น และจะนำมาสู่สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ
“ปีนี้ผมอายุ 66 ปีแล้ว ใน 43 ปีที่ผมทำงานในเจียไต๋ เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งที่สำคัญในปี 2508 เมื่อพี่ชาย คือ คุณวัลลภ เจียรวนนท์ เรียนจบจากออสเตรเลียแล้วเข้ามาบริหาร ได้ปรับโครงสร้างเจียไต๋ เป็นรูปแบบของบริษัท เปิดรับพนักงาน มีฝ่ายขายที่ชัดเจน จากเดิมที่คุณพ่อ (ชนม์เจริญ เจียรวนนท์) ผู้ก่อตั้งจะใช้วิธีการเดินสายไปไปต่างจังหวัดนอนวัด บุกเบิกการจำหน่ายขายตรงด้วยตนเอง”
การปรับโครงสร้างครั้งนี้จากที่ขายเมล็ดผักอย่างเดี๋ยวได้นำเข้าปุ๋ยเคมีและผลิตภัณฑ์อารักขาพืชมาจำหน่าย โดยขายปุ๋ยแบบ B to B (Business to Business) แถวปากคลองตลาด ส่วนเมล็ดพันธุ์นำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในปี 2511 คือ กระป๋องที่ช่วยกันป้องกันความชื้นและเก็บได้นานขึ้น ภายใต้แบรนด์ “ตราเรือบิน” และต่อมารีแบรนด์เป็น “ตราเครื่องบิน” เพราะเครื่องบินคือนวัตกรรมใหม่สุดในยุคนั้น
“เมื่อก่อนคนไทยจะได้กินกะหล่ำปลีเฉพาะฤดูหนาว เจียไต๋จึงนำเข้าพันธุ์ทนร้อนจากบริษัท TAKII จากญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรกันมา 82 ปีแล้ว ทำให้ปัจจุบันมีกะหล่ำปลีขายตลอดทั้งปี และทำให้เมล็ดพันธุ์ของเจียไต๋เป็นที่รู้จักมากขึ้น”
สำหรับ Big Move สำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 2523 ที่เปลี่ยนจากการขายส่งปุ๋ยเคมีเป็นขายปลีก หรือ B to C (Business to Customer) บรรจุถุง 50 กิโลกรัม ผ่านระบบตัวแทนจำหน่าย หรือ ยี่ปั๋ว ซาปั๋ว รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์อารักขาพืช ซึ่งมีพาราควอตเป็นยาฆ่าหญ้าที่ได้รับความนิยมมาก แต่เจียไต๋เลิกจำหน่ายไปแล้ว 3 ปี ก่อนที่ภาครัฐประกาศห้ามใช้
นอกจากนี้ เจียไต๋ เริ่มคัดพันธุ์ สร้างพันธุ์พืชเมืองร้อน ซึ่งเป็นการลงทุนมหาศาลแต่เห็นผลช้า 5-10 ปี แต่สามารถผลิตเพื่อส่งออกไปอาเซียนได้ รวมทั้งทำตลาดในเอเชียใต้ เช่น อินเดียและปากีสถาน ที่มีภูมิอากาศและวัฒนธรรมอาหารคล้ายประเทศไทย หรืออีกนัยเรียกได้ว่าผลวิจัยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางพันธุ์พืชผักเมืองร้อนของเอเชียใต้ได้แล้ว
“ไม่สามารถบอกตัวเลขการลงทุนด้านงานวิจัยไปเท่าไหร่ เพราะเจียไต๋เริ่มปูตั้งแต่พื้นฐาน สร้างบุคลากร ส่งเรียน พัฒนาไปพร้อมกับการจำหน่ายและส่งเสริมเกษตรกร”
เชื่อมพนักงานรุ่นเก่า-ใหม่
ปัจจุบันธุรกิจของเจียไต๋ขยายไปต่างประเทศมากขึ้น โดยในกลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืชผักทำตลาดมากกว่า 40 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีป ทั้งทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป อัฟริกา อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ซึ่งใช้จุดแข็งของการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเมล็ดพันธุ์พืชผักออกไปแข่งขัน เพื่อส่งมอบนวัตกรรมการเกษตรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างยั่งยืนให้ผู้คนทั่วทั้งภูมิภาค
“ทำให้ปัจจุบันเจียไต๋มีพนักงานที่ทำงานด้วยกันมานานแล้วกว่า 40 ปี แต่ไม่ถือว่าเก่านะ เพราะบุคคลเหล่านี้จะพัฒนาตนเองให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ถ่ายทอดสู่รุ่นใหม่ รุ่นต่อรุ่น ทำให้องค์กรของเรามีอายุเฉลี่ยที่ 35 ปีเท่านั้น ไม่ถือว่าแก่ แต่เป็นวัยทำงาน”
ทั้งนี้ การทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มพนักงานดั้งเดิมที่มาจากการทำธุรกิจแบบครอบครัวและพนักงานรุ่นใหม่ จะต้องทำให้คนทั้ง 2 กลุ่ม มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ซึ่งในอีดพนักงานส่วนใหญ่จบสาขาการเกษตร แต่ปัจจุบันมีผู้จบสาขาอื่นเข้ามาทำงานมากขึ้นทำให้เจียไต๋ สามารถตามสถานการณ์ทางธุรกิจได้ และจะเป็นการสร้างความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจของเจี๋ยไต๋ ตั้งแต่ปีที่ 101 เป็นต้นไป
พัฒนาสู่“เซอร์วิสโพรไวเดอร์”
นายมนัส กล่าวว่า 100 ปีก่อน ภาคการเกษตรของไทยยังเป็นเกษตรเพื่อปากท้อง แต่หลังจากนี้ภาคการเกษตรของไทยจะต้องคำนึงถึงรายได้ด้วย เพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของเจียไต๋ ที่จะเป็นผู้นำด้านวิธีการหรือโซลูชัน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด รวมทั้งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตเคียงคู่ไปพร้อมกับเกษตรกร
ทั้งนี้ เจียไต๋ จะเปลี่ยนจากการเป็น In put provider ที่ทำมาตลอดในช่วง 100 ปี ที่ผ่านมา ไปสู่การเป็น Service Provider Solution ซึ่งทำให้ต้องมีการใส่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปมากขึ้น โดยเจียไต๋ มองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาคการเกษตรมาแน่นอน เช่น IoT ที่จะช่วยลดการใช้แรงงานและช่วยเพิ่มผลผลิตได้
หนุนคนรุ่นใหม่ทำเกษตร
“เจียไต๋ มองว่าคนเราไม่หยุดกิน ซึ่งอาหารมาจากภาคการเกษตร ดังนั้นทำอย่างไรจะให้เกษตรกร อยู่ดี กินดี มีความภาคภูมิใจในความเป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ และมีผู้สืบทอด โดยที่เจียไต๋เป็นผู้ให้บริการ หรือ In put provider ใช้ตลาดนำการผลิต ต่อยอดนวัตกรรม และเทคโนโลยี ใช้โดรน ทดแทนแรงงานและจูงใจเกษตรกรรุ่นใหม่ เข้าเข้าสู่ระบบเกษตรแม่ยำ”
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุในเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรมักจะไม่ให้ลูกหลานเข้าสู่ภาคเกษตร เพราะเป็นอาชีพที่ทำงานหนัก ดังนั้น การบริการโซลูชันที่ทำให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นได้ เพราะคนรุ่นใหม่พร้อมที่จะตอบรับการใช้เทคโนโลยี
“เราต้องหาทางไม่ให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรหนี้หายไปหมด หรือมีแต่คนแก่ ต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้ามเป็นเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะใช้ระบบน้ำ โดรน หรือแทรคเตอร์ ในการผลิตสินค้าเกษตร”
เร่งดันแบรนด์“เจียไต๋ฟาร์ม”
ทั้งนี้ เจียไต๋ จะมุ่งเน้นไปในสินค้าผักเป็นหลัก เพราะเป็นสินค้าพื้นฐานที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย แต่จากการวิเคราะห์ในห่วงโซ่ปัจจุบัน โดยมีความสูญเสีย หรือ Waste ในทุกขั้นตอน และผักหลายชนิดไทยไม่มีการผลิตแล้ว เพราะนำเข้าถูกกว่า เช่น แครอท บล๊อคโครี่ เป็นต้นจาก จีน ออสเตรเลีย ประเทศที่ไทยเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ด้วย
เจียไต๋จะเข้าไปมีส่วนตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงโต๊ะอาหาร (From farm to table) โดยการผลิตต้องปลอดภัย ได้รับรอง จีเอพี ด้านการตลาด จะผลักดันให้วางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ภายใต้แบรนด์ที่มีอยู่ คือ “เจียไต๋ฟาร์ม” รับจ้างผลิต (OEM) ขายส่งร้านอาหาร ภัตตาคาร เป็นต้น
“งานเจี๋ยไต๋แฟร์ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คือ ผลงานที่น่าภาคภูมิใจ สามารถโชว์ผลงานในฝันได้จำนวนมาก สมาร์ทฟาร์เมอร์ที่เจียไต๋ส่งเสริม สามารถพัฒนาได้ดีเกินความคาดหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องต่อยอดต่อไปเพื่อให้กลายเป็นผู้นำในห่วงโซ่“
ยืนยันมีสต็อกปุ๋ยพอจำหน่าย
สำหรับรายได้เจียไต๋ ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 15,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 80% มาจากธุรกิจปุ๋ยเคมี ที่เหลือ 20% เป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์และอารักขาพืช ซึ่งการจำหน่ายปุ๋ยเคมียังครองสัดสัดการตลาดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
ในปี 2565 สืบเนื่องมาจากราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย หรือ ไนโตรเจน (N) ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัวจากราคาตันละ 300 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น และความวิตกกังวลจากหลายปัจจัยที่เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้การนำเข้าปุ๋ยของเจียไต๋ลดลงเหลือ 1 ใน 4 ส่วนจากที่เคยนำเข้าปีละ 1.3-1.5 แสนตัน เท่านั้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาปุ๋ยในตลาดยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ดังนั้นหากยังเกิดวิกฤติระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะผลักดันให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งโชคดีที่เจียไต๋ ได้สั่งซื้อและรับมอบไปแล้วก่อนที่จะเกิดสงคราม ทำให้ยังมีปุ๋ยในสต็อก เพียงพอที่จะจำหน่ายได้ แต่อาจไม่ทั่วถึงเพราะความต้องการปุ๋ยของไทยมีมากถึงปีละ 5 ล้านตัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ