ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ด้วยสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีมากถึง 20% ณ สิ้นปี 2566 และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอัตราการเกิดใหม่ที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดในปี 2572 เร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ถึง 2 ปี
การเข้าสู่สังคมสูงวัยนี้ แม้จะเป็นความท้าทายในหลายด้าน แต่ในเชิงการตลาดกลับถือเป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ โดยข้อมูลจาก Krungthai COMPASS คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุหรือ Silver Generation ในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยปีละ 4.4% จนแตะระดับ 2.6 ล้านล้านบาทในปี 2573 คิดเป็นราว 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทยทั้งหมด
นั่นจึงทำให้เกิดกระแสการปรับตัวของหลากหลายธุรกิจในการพัฒนาสินค้าและบริการมาเจาะตลาดกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งนอกจากจะมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มการเติบโตสูงแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและมีความพร้อมทางการเงินอีกด้วย หนึ่งในตลาดที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ก็คือตลาดอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงวัย
โดยข้อมูลจากการสำรวจของ DDproperty พบว่า กว่า 62% ของผู้บริโภคชาวไทยให้ความสนใจเรื่องการวางแผนที่อยู่อาศัยหลังเกษียณมากขึ้น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ครองแชมป์เมืองในฝันสำหรับใช้ชีวิตวัยเกษียณ ด้วยความโดดเด่นเรื่องสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดธรรมชาติและความเจริญที่ครบครัน
เมื่อสำรวจลึกลงไปถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัยพบว่า กว่า 48% ของกลุ่มนี้มีเงินออมเพียงพอที่จะซื้อบ้านได้ทันที ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้บริโภคกลุ่มอายุอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกันอีก 37% มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ภายในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า ทั้งจากเหตุผลความต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น การซื้อเพื่อการลงทุน และการขายบ้านหลังเดิมได้ในราคาดี ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและความต้องการสินค้าอสังหาที่สูงในหมู่ผู้สูงอายุ
สำหรับปัจจัยที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญในการเลือกซื้อบ้านนั้น อันดับแรกคือขนาดพื้นที่ใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและกิจวัตรประจำวัน ควบคู่ไปกับความสะดวกในการอยู่อาศัย รองลงมาคือ ทำเลโครงการที่ควรอยู่ใกล้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดความจำเป็นในการขับรถเอง ซึ่งอาจมีความเสี่ยงกับสุขภาพและสภาพร่างกายในวัยนี้
นอกจากนั้น พื้นที่ภายในบ้านที่ผู้สูงวัยมีความต้องการปรับเปลี่ยนมากที่สุดก็คือ ‘ห้องนั่งเล่น’ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ จึงจำเป็นต้องดีไซน์ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงการปรับปรุงห้องนอนและห้องน้ำให้มีความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในบ้านสำหรับวัยนี้
ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ช่วยให้นักการตลาดอสังหาสามารถเข้าใจความต้องการของกลุ่มผู้สูงวัยได้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาแนวทางในการนำเสนอสินค้าและบริการที่จะตอบโจทย์พฤติกรรมอย่างแท้จริง อาทิ การโฟกัสไปที่การออกแบบพื้นที่ใช้สอย การพัฒนาทำเลโครงการใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือการปรับเปลี่ยนห้องต่างๆ ให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์วัยเกษียณ เป็นต้น รวมถึงการปรับรูปแบบการสื่อสารและโปรโมชันทางการตลาดเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มนี้
นอกจากนั้น อีกโอกาสที่น่าสนใจคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภท Reverse Mortgage ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตัวเอง สามารถนำบ้านมาแปลงเป็นรายได้รายเดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและปลดล็อกศักยภาพในการใช้จ่ายของกลุ่มนี้ได้มากขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมทั้งคุณภาพชีวิตและอำนาจซื้อไปพร้อมๆ กัน
สรุปภาพรวม ตลาดสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหา นับเป็นกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงมากในเวลานี้ เนื่องจากมีทั้งความพร้อมทางการเงิน ความต้องการที่ชัดเจน รวมถึงแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว
หากธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าใจลึกถึงพฤติกรรม Pain Points และ Insight ที่แท้จริงของผู้บริโภคสูงวัย เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการตลาดให้โดนใจ ก็จะกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผลักดันการเติบโตของธุรกิจในอนาคตได้อย่างแน่นอน