4 เมษายน 2566 “จุฬา สุขมานพ” เปิดวิสัยทัศน์ พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาและความหวังของคนไทย เป้าหมายเม็ดเงิน 2.2 ล้านล้านภายใน 5 ปี เน้นลงทุน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ นวัตกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เศรษฐกิจ BCG และบริการ
หลังจากที่ นายจุฬา สุขมานพ เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ อีอีซี เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เม.ย 2566 ‘จุฬา’ ได้ประกาศสานต่อความสำเร็จของ EEC ในช่วงปี 2561-2565 โดยพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาอีอีซีให้เป็น “ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน เป็นความหวังของคนไทย และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ”
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวในงานแถลงวิสัยทัศน์ว่า ภารกิจเร่งด่วนที่จะดำเนินการคือ ทบทวนแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี ให้สอดคล้องกับบริบทโลกในอนาคต ที่จะศึกษาถึงปัจจัยจากสถานการณ์ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เช่น ผลกระทบจากโควิด 19 การถดถอยของเศรษฐกิจโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์อุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อทำให้แผนภาพรวมของอีอีซีฉบับใหม่รองรับการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า
นายจุฬา ให้ข้อมูลว่า แนวทางการสนับสนุนด้านการลงทุนซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญหลัก ประกอบด้วย
- ที่ดิน (Land) ที่อีอีซีจะเตรียมความพร้อมและหารือร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จัดสรรพื้นที่เชิญชวนให้เกิดการลงทุนเจาะเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ
- แรงงาน (Labour) เตรียมพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง นำเสนอเป็นแพคเกจเพื่อจูงใจนักลงทุน ที่อีอีซีจะมีบุคลากรพร้อมรองรับการทำงานตรงความต้องการอุตสาหกรรม
- กฎหมายและระเบียบต่างๆ (Law and regulations) เตรียมปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การลงทุนและสามารถอำนวยความสะดวกแก่การเข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่
- โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ (Logistics infrastructure) ผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนในการประกอบกิจการ
นายจุฬาตั้งเป้าหมายหลักดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท ภายในช่วงปี 2565-2570 สอดคล้องกับความต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต 5% ต่อปี โดยมีแผนปฏิบัติการสู่เป้าหมายเม็ดเงินลงทุน 2.2 ล้านบาท ดังนี้
(1) บริหารโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ผลักดันการลงทุนหลักอีอีซี และต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีแผนงาน บริหารโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการ (EEC Project List) รวมไปถึงการเร่งเจรจากับเอกชน หาทางออกเพื่อบรรเทาปัญหาต่างๆ ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว และให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนภายในปี 2566
นายจุฬา ยกตัวอย่าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อให้เอกชนสามารถเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) และส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาตตะวันออก กำหนดเป้าหมายให้เอกชนสามารถเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) และประกาศเชิญชวนเอกชนก่อสร้างทาง Runway 2 รวมไปถึง โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ความคืบหน้าด้านงานก่อสร้างพื้นที่ทางทะเล ให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการผลักดันโครงการลงทุน PPP ใหม่ที่สำคัญ อาทิ โครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ซึ่งจะยกระดับด้านบริการสาธารณสุขให้คนในพื้นที่อีอีซี ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
ทั้งนี้ ในด้านการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่า รวม 200,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เมืองการบินภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบสนามบิน 100,000 ล้านบาท และ TOD (Transit Oriented Development) ตามสถานีรถไฟ 100,000 ล้านบาท
(2) ผลักดันลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนโครงการเดิม เริ่มโครงการใหม่ เพื่อดึงดูดการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาท เกิดการลงทุนปีละ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในฐานปกติปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนในส่วนเพิ่มที่อีอีซี ได้เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ โลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตร ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โดยจะเน้นดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่มีศักยภาพตรง รวมปีละ 150,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะผลักดันแผนงานที่สำคัญให้เกิดเป็นรูปธรรมให้พื้นที่ อีอีซี เป็นเป้าหมายสำหรับนักลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (โรด์โชว์) ส่งเสริมการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและกิจการพิเศษ กำหนดเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการพิเศษเพิ่มเติม อาทิ โรงพยาบาลปลวกแดง 2 การพัฒนาระบบ OSS เชื่อมโยงกับหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติ เพื่อให้บริการอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรอย่างแท้จริง รวมไปถึง การพัฒนากำลังคนภายในของอีอีซี เพื่อสร้างให้เป็นนักขายที่มีความชำนาญเพื่อจูงใจนักลงทุนเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตรงความต้องการให้เข้าสู่พื้นที่อีอีซีต่อไป
นายจุฬา กล่าวต่อวา ในปีนี้ จะเป็นปีแห่งการลงทุนเจาะกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนยิ่งขึ้น การจัดคลัสเตอร์แต่ละอุตสาหกรรมที่จะเห็นได้ชัดว่า เกิดการจองและการเข้าเจรจาการลงทุนต่อเนื่องในพื้นที่อีอีซี
(3) ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานร่วมกับชุมชน แผนงานที่สำคัญ ได้แก่ ผลักดันการพัฒนาบุคลากร ร่วมกับ ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาความเป็นอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนถึงระดับหมู่บ้าน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหารายได้ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกระดับ พัฒนาระบบการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอีอีซี เพิ่มบทบาทเครือข่ายประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์และมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการพัฒนาอีอีซี เป็นต้น
นอกจากนี้ นายจุฬา เสริมว่า ภารกิจที่จะเข้าไปดำเนินการ ด้านพื้นที่และชุมชน ซึ่งถือเป็นฐากรากสำคัญ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชนที่มีศักยภาพ โดยจะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน e-commerce การพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ wellness ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาด้านการศึกษา และจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ อีอีซี ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นายจุฬาบอกว่า อีอีซีจะดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายคิดเป็นเม็ดเงินรวม 400,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งออกเป็น ยานยนต์สมัยใหม่ 40,000 ล้านบาท ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ 50,000 ล้านบาท การแพทย์และสุขภาพ 30,000 ล้านบาท ขนส่งและโลจิสติกส์ 30,000 ล้านบาท และอื่นๆ คือเกษตรสมัยใหม่-อาหาร
นายจุฬา กล่าวต่อว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายมีอยู่ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ (1) การแพทย์และสุขภาพ (2) นวัตกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ (3) ยานยนต์ (4) เศรษฐกิจ BCG และ (5) บริการ โดยทั้งหมดจะดำเนินการตามพันธกิจ 4 รูปแบบ คือ Re-Evaluate Re-Image Re-Alive และ Realize ทั้งนี้ในการผลักดันจะต้องยึดตามพันธกิจข้างต้น
Re-Evaluate คือการทบทวนกฎระเบียบเดิม ดังนี้
- นโยบายเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
- แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561-2565
- แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม
- แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
- แผนการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
- แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
- แผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
Re-Image สร้างภาพลักษณ์ให้ประชาชนนอกพื้นที่อีอีซีเห็นว่าจะได้รับประโยชน์จากอีอีซีด้วย ตัวอย่างเช่น มีฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น
Re-Alive การทำให้พื้นที่อีอีซีมีชีวิตชีวามากขึ้น ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ดังนี้
- แสดงความก้าวหน้าและบริหารโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้แล้วเสร็จตามแผน
- สร้างความตระหนักรู้และชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และอุตสาหกรรมในห่วงโซ้อุปทาน รวมถึงแสดงถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ
- สร้างพันธมิตรกับประชาชนในพื้นที่ตามโซนนิ่งของการใช้ประโยชน์ โดยการทำโครงการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย สำนักงาน ฯลฯ
Realize การสร้างและรักษาระบบนิเวศสำหรับการพัฒนาให้ต่อเนื่องและยั่งยืน
ทั้งนี้ นายจุฬา ยังกล่าวถึง EEC Vision 2570 โดยภายในอีอีซีจะมี ‘ศูนย์ธุรกิจอีอีซี’ และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะแห่งแรก ซึ่งจะเปิดดำเนินการในปี 2570 โดยกำหนดวางพื้นที่สีเขียวและน้ำไม่น้อยกว่า 30% พื้นที่ใช้สอย 70% โดยจัดวางโซนนิ่งธุรกิจ 5 คลัสเตอร์และที่อยู่อาศัยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะเพื่อให้อีอีซีเป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา ไทยพับลิก้า