เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ขึ้นเวที Circular Biz: Towards a Low Carbon and Sustainable Future กล่าว ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ Realizing the Circular Economy ในงานสัมมนา Circular Biz: Towards a Low Carbon and Sustainable Future ซึ่งเป็นการจัดสัมมนารูปแบบออนไลน์ Virtual Conference จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ THE STANDARD ที่ห้องประชุม C-ASEAN อาคารไซเบอร์เวิลด์ โดยในงานนี้ยังได้จัดวงเสวนาย่อยเชิญตัวแทนผู้บริหารจากบริษัทเอกชนชั้นนำของประะเทศ ตลอดจนองค์กรที่โดดเด่นด้านการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืนมาร่วมเวทีเสวนาเปิดมุมมองแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยปาฐกถาพิเศษของซีอีโอเครือซีพีได้สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกพลังให้ผู้นำภาคธุรกิจร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยระบุว่าการที่ภาคธุรกิจเอกชนจะสร้างจุดเริ่มต้นที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนได้นั้นต้องเริ่มจากการสร้างการตระหนักรู้ก่อน มองให้เห็นว่าอนาคตของโลกใบนี้และวิถีบริโภค วิธีใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเราที่แท้จริงแล้วยังไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกจากคาร์บอนไดออกไซด์ และภาวะโลกร้อนขึ้น ส่งผลให้สายพันธุ์สัตว์จำนวนมากกำลังหายไป ตลอดจนสายพันธุ์ของมนุษย์ด้วยกันเองก็จะหายไปได้
ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของทุกบริษัทจึงต้องไม่ใช่การคำนึงถึงเพียงประสิทธิผลมวลรวมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงว่าจะสร้างสมดุลด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนคู่ขนานกันไป และตระหนักรู้ให้ได้ว่าความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว มองเห็นว่าเป้าหมายการทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Footprint) การการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ตลอดจนแนวคิดการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ฉะนั้นองค์กรธุรกิจเราต้องไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีต้นทุนมหาศาล ตราบใดที่คิดเช่นนี้ก็เหมือนเราถามตัวเองว่าทำไมเราต้องทำด้วย แต่ในทางกลับกันเราสามารถถามตัวเองได้ว่า แล้วทำไมไม่
คุณศุภชัย กล่าวต่อว่า วันนี้องค์กรธุรกิจทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ยิ่งต้องมีบทบาทสูงในการสร้างธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน โดยมีสิ่งสำคัญคือ “ผู้นำ” ซึ่งผู้นำที่ดีคือผู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมีผลต่อคนส่วนใหญ่ และสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งยังตระหนักได้ว่าในเศรษฐกิจยุคใหม่เราสามารถเติบโตไปด้วยกันอย่างมีความสมดุลได้ ฉะนั้นผู้นำ ผู้ประกอบการองค์กรธุรกิจไม่ว่าใหญ่ กลาง เล็กต้องเพิ่มความท้าทายในเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีในการถ่ายทอดความตระหนักรู้ด้านการทำธุรกิจที่ควบคู่กับความยั่งยืนไปสร้างความเชื่อนี้ให้เป็นศรัทธาต่อไปในองค์กร
คุณศุภชัย กล่าวถึง กรณีศึกษาที่เครือซีพีได้เริ่มต้นความท้าทายนี้ด้วยการทำธุรกิจที่ควบคู่ไปกับความยั่งยืน โดยไม่มองว่าเป็นการเพิ่มต้นทุน โดยที่ผ่านมาเครือซีพีได้รวบรวมผู้บริหารระดับสูงทั้งหมดในทุกกลุ่มธุรกิจมาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์แนวทางความเป็นไปได้ระหว่างธุรกิจกับความยั่งยืนจนนำมาสู่แผนปฏิบัติการและตั้งเป้าหมาย ดังนั้นทุกองค์กรสามารถประเมินความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันกับหาแนวทางที่เป็นโซลูชั่นที่จะสร้างความยั่งยืนและสมดุลขึ้นมาได้ภายในการปฏิบัติงานขององค์กรเรา
ฉะนั้นหากองค์กรธุรกิจดึงโจทย์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจควบคู่กับเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยใช้พลังของนวัตกรรมมาสร้างวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่ยั่งยืน และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สิ่งนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งการพัฒนาใหม่ ที่ทำให้มนุษยชาติจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมในต้นทุนที่น้อยกว่าเดิม แต่มีความสมดุลเกิดขึ้น จึงเป็นคำถามว่าทำไมเราไม่ทำ เพราะสิ่งนี้จะทำให้โลกเปลี่ยนได้ เพราะปัญหาของโลกวันนี้ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันแต่ต้องจับมือกันทำร่วมกันในมิติความยั่งยืน โดยองค์กรธุรกิจสามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือทุกองค์กรต้องแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนด้วยกัน
“เราจะมีทั้งความมั่นคงและศักยภาพทางธุรกิจ พร้อมกับมีความฝันที่จะเติบโตเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ได้ ทั้งสองส่วนนี้จะเป็นไปไม่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าไม่อยู่บนพื้นฐานของความรัก ความเห็นใจ ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน วันนี้มนุษย์อาจค้นพบว่าความมั่นคงที่แท้จริงของชีวิต และความฝันที่เติมเต็มนั้นต้องมาจากความรัก ความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และมาจากความรับผิดชอบต่อโลกของเราด้วย” คุณศุภชัยกล่าว
Cr:Pr CPG