ปรับตัวครั้งใหญ่รัฐ-เอกชน จับมือร่างกฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ให้เสร็จภายใน 1-2 ปี ทุกบริษัทต้องทำแผนความรับผิดชอบของผู้ผลิต การกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก ตามหลัก Circular Economy ต้องบังคับประชาชนคัดแยกขยะ
นายจิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” ว่า
ในกลุ่มประเทศสมาชิกในยุโรปปัจจุบันได้มีข้อกำหนดนโยบายหลัก และออกเป็นกฎระเบียบบังคับให้บริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกและวางขายในท้องตลาด ต้องจัดทำแผนการกำจัดบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน มีการกำหนดเรื่องของกระบวนการผลิตซึ่งจะถูกตรวจสอบตั้งแต่แหล่งวัตถุดิบ ว่านำมาจากไหนสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสังคมหรือไม่ สารที่ใช้เป็นส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์ และแน่นอนว่าบรรจุภัณฑ์จะต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่ใช่แบบใช้ครั้งเดียว (Single use)
รวมถึงการต้องทำสัญลักษณ์หรือฉลากบนถุงที่ย่อยสลายได้ และภายในปี 2567 ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วม “โครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR)” เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์
โดยทยอยเพิ่มสัดส่วนการนำกลับมารีไซเคิลของบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ปี เช่น บรรจุภัณฑ์ทุกประเภทในปี 2568 ต้องรีไซเคิลให้ได้ 65% และปี 2573 เพิ่มเป็น 70%, พลาสติกจาก 50% เพิ่มเป็น 55%, อลูมิเนียม จากไม่มีเลยในปี 2568 จะต้องมีสัดส่วน 50% และเพิ่มเป็น 60% ในปี 2573
ล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค.2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้พัฒนากรอบกฎหมายใหม่ว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ยังยืน ตามแผนการหมุนเวียนเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติก และการจัดการกับขยะ เป็นต้น
และแม้ในขณะนี้สหภาพยุโรป จะยังไม่บังคับใช้กฎหมายนี้กับประเทศที่ 3 ที่เป็นคู่ค้าส่งออกมายังยุโรป แต่ในอนาคตเชื่อว่ากฎหมายนี้จะใช้กับประเทศคู่ค้าแน่นอน ซึ่งนั่นหมายถึงภาคธุรกิจในไทยจะต้องปรับตัวและเรียนรู้กฎหมายฉบับนี้ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อไม่ให้เป็นการถูกกีดกันทางการค้าอีกรูปแบบนึง
นายนภดล ศิวบุตร รองประธาน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือ TIPMSE กล่าวว่า ขณะนี้รัฐและเอกชนเองได้ร่วมกันให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องความสำคัญของกลไก EPR ในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy :CE) และเป็นการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน
โดยเฉพาะการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Brand owner) เพื่อนำบรรจุภัณฑ์หลังบริโภคกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ที่ไม่ใช่เฉพาะจำกัดแต่เพียงผู้ผลิต แต่รวมถึงผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้จัดเก็บรวบรวม หน่วยงานรัฐ องค์กรอิสระ ที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมา ขยะที่เกิด ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจจะมีการหารือกับกระทรวงการคลัง ถึงมาตตรการส่งเสริมดังกล่าว เช่น หากมีการลงทุนเรื่องของ EPR เอกชนสามารถหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ หรือการลดหย่อนค่าธรรมเนียมหากบริษัทจะต้องดำเนินการใดๆ กับทาง ก.ล.ต. ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ภาคธุรกิจต้องทำแผนตั้งแต่กระบวนการ การกำจัดบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาร่างกฎระเบีย 1-2 ปี และจะผลักดันให้เป็นกฎหมาย
“อุปสรรคของเรื่องนี้ คือ ระบบการจัดการขยะของประเทศไทย ไม่มีกฎหมายให้ภาคประชาชนคัดแยกในครัวเรือน ยังไม่มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม การสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในการคัดแยก ภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลยังไม่มีเทคโนโลยีรองรับ หน่วยงานรับผิดชอบมีหลายหน่วยงาน กรอบกฎหมายสำหรับ EPR หรือ Regulatory Framework และความมั่นคงของนโยบายภาครัฐที่หากเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายจะเปลี่ยนตามหรือไม่
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาร่วมมือกันในการจัดทำนโยบาย EPR ที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญ
ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะจากขยะบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตามการนำ EPR ไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาขยะโดยเฉพาะพลาสติกยังคงเป็นความสมัครใจ ซึ่งระยะต่อไปทาง กรมควบคุมมลพิษ กำลังพิจารณาที่จะยกร่างเป็นกฎระเบียบหรือกฎหมายให้เกิดการบังคับใช้ในอนาคต เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“TIPMSE ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนผลักดันการนำ EPR มาใช้ซึ่งยังเป็นภาคสมัครใจเพื่อเร่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เช่น แก้ว กระดาษ ที่การใช้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง และความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะมีมาตรการ และกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งในต่างประเทศได้มีการนำระบบ EPR นำมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันตามบริบทของประเทศ
ดังนั้นไทยต้องกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนต่อความรับผิดชอบ และการสร้างจิตสำนึกในด้านการจัดการพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ ให้กับทุกกลุ่มในภาคสังคมรวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ และรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและร่วมรับมือลดภาวะโลกร้อน”
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ภายใต้โครงการ PackBack…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ได้เกิดขึ้นโดย TIPMSE ร่วมมือกับ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล และเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง
เริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่ จ.ชลบุรี ส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้ศึกษารูปแบบ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้บรรจุภัณฑ์หมุนเวียนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ