กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยทิศทางการบริโภคอาหารของชาวแคนาดา สนใจสินค้าที่มีนวัตกรรม อาหารประเภท Comfort Food อาหารที่รับประทานแล้วสบายใจ อาหารดูแลสุขภาพ แนะศึกษาแนวโน้ม และนำมาปรับใช้ในการผลิตสินค้าไทย เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด และเพิ่มโอกาสในการส่งออก
วันที่ 18 เมษายน 2567 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับรายงานจากนางสาววิวรรณ ศรีรับสุข ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต แคนาดา ถึงทิศทางการบริโภคอาหารของชาวแคนาดา และโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยเจาะตลาดแคนาดา
ประกาศแล้ว! พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ รับ 11,000 บาทต่อเดือน
บังคับใช้แล้ว! หลักเกณฑ์การดำเนินงาน 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว
อะไรทำให้ “ทองคำ” แพง สงคราม หรือการเก็งกำไร ?
โดยพบว่า ผู้บริโภคในแคนาดาเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องในปี 2567 ท่ามกลางปัจจัยภายในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาวะเงินเฟ้อ และปัจจัยภายนอก ผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนและความวุ่นวายด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก และในด้านอาหาร ได้มองหาสินค้าอาหารประเภท Comfort Food อาหารที่รับประทานแล้วสบายใจ หรือเครื่องดื่มที่เมื่อบริโภคแล้วเกิดความรู้สึกดี หรือช่วยปลอบประโลมจิตใจให้อารมณ์ดียิ่งขึ้น
กลุ่มสินค้านี้ ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบโจทย์และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น
ทั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการดื่มกาแฟในทุกวัน ยังคงเป็นที่นิยม โดยหนึ่งในเหตุผลของการบริโภคกาแฟ มาจากประโยชน์ของสารคาเฟอีนที่สร้างความกระปรี้กระเปร่า แต่ผู้บริโภคมีความต้องการแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่มาทดแทนสารคาเฟอีนในรูปแบบอื่น เช่น หันไปดื่มเครื่องดื่มที่ให้พลังงานในรูปแบบอื่นทดแทน อย่างเช่นกาแฟ gold milk ที่มีส่วนผสมสมุนไพร (Chai) ชาอินเดีย ผงเห็ดหอม รากชิคโครี่ ผงขิง อบเชย และพริกไทยดำ ซึ่งเป็นตัวเลือกของผู้บริโภคสายห่วงใยสุขภาพ
และยังมีการคิดค้นกาแฟเอสเปรสโซ ไร้เมล็ดกาแฟ ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นเมล็ดอินทผลัม โดยรสชาติอาจไม่ขมเหมือนกาแฟ แต่ได้กลิ่นที่ทดแทนเสมือนดื่มกาแฟ คุณประโยชน์ของเมล็ดอินทผลัม มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้คลายเครียด และเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายและยังมีวิตามินและแร่ธาตุสูง ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
สำหรับอาหาร ก็มีความต้องการอาหารร่วมสมัยที่พัฒนาจากอาหารพื้นเมือง เช่น อาหารของคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ประกอบด้วย 11 ประเทศ อัลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย โครเอเชีย กรีซ มาซิโดเนียเหนือ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร โคโซโว สโลวีเนีย ตุรกี เฉพาะฝั่งยุโรป ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารเมดิเตอร์เรเนียนและยุโรปตะวันออก โดยอาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจกลุ่มประเทศดังกล่าว เช่น Cevapi-inspired sliders มีลักษณะคล้ายไส้กรอก ที่มีส่วนผสมของ เนื้อบด เนื้อแกะบด และเครื่องเทศ ทานคู่กับขนมปังชีสกระเทียม ส่วนผลไม้ ก็มีความต้องการลิ้มรสผลไม้ต่างถิ่นเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการดูแลสุขภาพ จะตระหนักเลือกผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่มีส่วนผสมที่สร้างประโยชน์ให้ผิวพรรณ เช่น แซลมอน แตงกวา กะหล่ำปลี และกิมจิ เพื่อเป็นอาหารผิวที่ช่วยรักษาผิวแห้ง สร้างความชุ่มชื่น หรือที่เรียกกันว่า Skincare breakfast ที่เป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย
นายภูสิตกล่าวอีกว่า ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ควรศึกษาแนวโน้มตลาด และคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือการนำของดั้งเดิมมาเพิ่มความแตกต่างเพื่อตอบโจทย์ตลาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรักสุขภาพที่มองหาผลิตภัณฑ์ทางเลือก การพัฒนารูปแบบสินค้าจากรูปแบบเดิมเพื่อสร้างจุดขายให้ผลิตภัณฑ์ การผลิตอาหารร่วมสมัยที่พัฒนาจากอาหารพื้นเมือง การสรรหาผลไม้ต่างถิ่นเข้าสู่ตลาด และการสร้างความทรงจำดี ๆ ผ่านรูปแบบอาหาร ประหนึ่งได้ทานรสมือแม่ กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง รวมถึงการยกระดับนวัตกรรมที่นำปัญญาประดิษฐ์มาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ในอนาคต
“เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทย หากสามารถคิดค้นสูตรจากอาหารที่หลากหลายในประเทศ เริ่มจากอาหารที่ต่างชาติรู้จักและเป็นที่นิยม นำมาพัฒนาให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น มันฝรั่งกรอบรสส้มตำ เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ให้คนไทยสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าสินค้าจากวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ หรือการนำผลไม้นานาชนิดที่สร้างความแตกต่างด้านรสชาติได้เป็นอย่างดี เช่น มะเฟือง เงาะ มังคุด สละ และอีกมากมาย หากพัฒนาแปรรูป ทำการตลาดเผยแพร่เริ่มจากในประเทศให้เป็นที่รู้จัก ก็สามารถสร้างกระแสให้ผู้คนสนใจและอยากลิ้มลองได้” นายภูสิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ