เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี นำโดย คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี พร้อมด้วย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น / กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี คณะผู้บริหารฯ และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรเอกชนเครือข่ายมูลนิธิฯ เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาไทยที่ยั่งยืน ประจำปี 2568 หรือ School Partner Workshop 2025 ที่จัดขึ้นเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพความเป็นผู้นำของ School Partner เพิ่มพูนความรู้และทักษะต่างๆ ตลอดจนเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีทั่วประเทศ โดยครั้งนี้มีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นพนักงานจิตอาสาจากองค์กรภาคเอกชน ร่วมการอบรมทั้งหมด 500 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย ในการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย ปฏิบัติงานร่วมกับผู้อำนวยการและครู นำข้อมูลจากระบบ School Management System มาคิดวิเคราะห์ ประเมินจุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามบริบทพื้นที่ ครอบคลุมทุกด้านสอดคล้องตามยุทธศาสตร์หลักของมูลนิธิฯ
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ได้แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมให้ข้อคิดและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้นำรุ่นใหม่ ได้ตระหนักถึงบทบาทอันน่าภาคภูมิใจ ถึงการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย ภายใต้หัวข้อ “วิสัยทัศน์ พลังความร่วมมือ เปลี่ยนอนาคตการศึกษาไทย” ว่า หุ้นส่วนโรงเรียน หรือ School Partner เครือข่ายมูลนิธิฯ ที่ทำงานร่วมกับภาครัฐด้านการศึกษา ถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการเข้าไปทำงานกับโรงเรียน ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็ก ผ่านการนำเอาทรัพยากรที่แต่ละองค์กรมีเข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียน โดยเฉพาะการสร้างเส้นทางเด็กให้มีคุณธรรม จริยธรรม นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยี ซึ่งเห็นผลเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากหลายตัวชี้วัดในปีที่ผ่านมา ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาจาก 2.0 ไปเป็น 5.0 จะต้องอาศัยปัจจัยต่างๆดังนี้ 1.ต้องให้ความรัก ความมั่นคง (ปลอดภัย) และความมั่นใจกับเด็ก 2.กระบวนการเรียนรู้ต้องตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำ ร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ 3.บทบาทคุณครูเปลี่ยนจาก INSTRUCTOR เป็น FACILITATOR และ GUARDIAN ที่มีเมตตาสูง 4.ต้องทำงานและสำเร็จพร้อมกับทีม 5.ต้องปลูกฝังคุณธรรมและธรรมาภิบาล (ETHICAL VALUE + GOVERNANCE) และ 6.เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ LEARNING CENTER
นอกจากนี้การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ควรมีเสาหลักสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง 5 ข้อ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์ความโปร่งใส (มีตัวชี้วัด ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ) 2.ยุทธศาสตร์กลไกตลาด (สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ) 3.ยุทธศาสตร์สร้างคุณภาพผู้นำ (มีกระบวนการสร้างบุคลากรให้มีทักษะ 5.0) 4.ยุทธศาสตร์หลักสูตรให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (สร้างการเรียนรู้ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง มี Action Based Learning/Learning Center) 5.ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (นักเรียนทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ ส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ และศูนย์กลางนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
“ความเมตตา เป็นมาตรฐานของความรัก เป็นตัวชี้วัด เราจะเห็นว่าตราของคอนเน็กซ์อีดี มีหัวใจอยู่ตรงกลาง หุ้นส่วนโรงเรียน (School Partner) ที่มีในวันนี้นับได้ว่า พวกท่านเป็นมาตรฐานของความรักเช่นกัน เพราะพวกท่านแคร์เด็กๆ อยากให้เกิดสิ่งดีดีขึ้นกับเด็ก” คุณศุภชัยกล่าว
คุณเบญจมาภรณ์ ฤาไชย School Partner จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เผยว่า ตั้งแต่ช่วงโควิด ได้ดูแลโรงเรียนในจังหวัดสุพรรณบุรี มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาโรงเรียน เช่น แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ให้มีพื้นที่เพาะปลูก เพิ่มผลผลิตและช่องทางการขายผลิตภัณฑ์จากเห็ด นอกจากนี้ยังนำแอปพลิเคชันมาช่วยในการปลูกผัก เพาะเห็ด ต่อยอดจากโรงเรียน พร้อมบูรณาการการเรียนรู้กับนักเรียนทุกระดับชั้น ซึ่งการได้เป็น School Partner ทำให้เป็นคนที่มีค่า ได้เป็นคนหนึ่งที่ได้มอบโอกาสทางการศึกษาให้กับน้องๆ ให้กับโรงเรียน ทำให้อยากพัฒนาตัวเองมากขึ้น เพื่อส่งต่อโอกาสนี้ไปได้เรื่อยๆ อยากกระจายโอกาสและความพร้อมให้กับเด็กๆ ให้ทัดเทียมกับเด็กในเมือง
คุณประเวช ขุนภิรมย์ School Partner จากบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะที่เป็น School Partner ที่โรงเรียนในจังหวัดหนองคาย ดำเนินโครงการที่ส่งเสริมด้านพัฒนาทักษะอาชีพและบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอน เช่น การเกษตร เพาะเห็ด งานหัตถกรรม และมัคคุเทศก์น้อย ผ่านความร่วมมือกับชุมชน ส่งผลให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะอาชีพ สนใจเรียนรู้ตามความถนัดผ่านกระบวนการ Child-centric 100% เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนและนักเรียน สิ่งเหล่านี้ สร้างความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งร่วมพัฒนาการศึกษา เราอยากเห็นเด็กไทยเป็นเด็กดีมีคุณภาพ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่ผู้ใหญ่ที่ช่วยกันผลักดัน โครงการนี้เปิดโอกาสให้พัฒนาตัวเอง และขับเคลื่อนการศึกษาไทย
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาไทยที่ยั่งยืนในปีนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรเครือข่ายพันธมิตร มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์แก่ผู้นำรุ่นใหม่ อาทิ
- บทบาทผู้นำยุคใหม่และแนวทางดำเนินงานเพื่อพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ตามหลัก 5S ได้แก่ STUDY ศึกษา การดำเนินงานมูลนิธิฯ และข้อมูลโรงเรียน 2. STIMULATE ส่งเสริม สร้างความเข้าใจกับโรงเรียน ผลักดันการพัฒนา 3. SWOT วิเคราะห์ ปัญหาและโอกาส ในการพัฒนาโรงเรียน 4. SUGGEST เสนอแนะ แนวทางการพัฒนาโรงเรียนตามยุทธศาสตร์ และ 5. SUPPORT สนับสนุน โครงการที่เหมาะสมพร้อมช่วยติดตามการดำเนินงาน โดย ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี
- บทเรียนจากผู้นำ เสริมพลังผู้นำรุ่นใหม่ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้การศึกษาไทย ด้วยการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยนายพริษฐ์ เที่ยงธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เอ็ดดูเคชั่น อีซี่ (ไทยแลนด์) จำกัด
- พลังการสื่อสารของผู้นำ เข้าถึง-เข้าใจ-ได้ประสิทธิผล โดย ครูน้ำฝน ภักดี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนบุคลิกภาพและการสื่อสาร โพรนาลิตี้ อะคาเดมี ที่มาถ่ายทอดเทคนิคการสื่อสารพูดคุยอย่างตรงประเด็น เพื่อให้ได้ข้อมูลและสร้างความรู้สึกเชิงบวก เรียนรู้การจับประเด็นระหว่างสนทนา สามารถคิดวิเคราะห์คู่สนทนา ผ่านภาษาพูดและภาษากาย อันเป็นการสร้างความมั่นใจ เสริมสร้างบุคลิกภาพและการวางตัวอย่างเหมาะสมให้แก่ผู้นำรุ่นใหม่