ผู้บริโภคพฤติกรรมเปลี่ยนหลังโควิด ซื้อถี่น้อยลง แต่ซื้อมากกว่าเดิมในแต่ละครั้ง

หากลองสังเกตตัวเองดู หลายคนอาจจะพบว่าเราไปร้านค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของกินของใช้ไม่บ่อยเท่าเดิม แต่แต่ละครั้งที่ไปอาจต้องหิ้วของพะรุงพะรังมากขึ้นในช่วงที่ราคาสินค้าเริ่มแพงขึ้นหลายอย่าง

ภาพโดย ElasticComputeFarm จาก Pixabay

นักวิเคราะห์จาก Kantar บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาดเผยว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรในการเลือกซื้อของอุปโภคบริโภคเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาตั้งแต่ช่วงที่เกิดโควิด-19 หลัก ๆ อยู่ที่การไปซื้อของน้อยครั้งกว่าเดิมในแต่ละเดือน แต่กลับซื้อของมากกว่าเดิมในแต่ละครั้ง ซื้อของในร้านเดิมซ้ำ ซื้อของออนไลน์ลดลง

ตัวแปรหลักที่ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ค่าครองชีพที่ต้องแบกรับมากขึ้น อย่างในไทยเองก็เห็นได้ชัดว่าทั้งของสดและของสำเร็จรูปต่างปรับราคาขึ้นกันหมด

ไปช็อปปิ้งน้อยครั้งลง แต่ซื้อของแต่ละครั้งมากขึ้น

ข้อมูลจาก Kantar เผยว่า แต่ละครัวเรือนเดินทางไปซื้อของเฉลี่ยครัวเรือนละ 18 ครั้งต่อเดือนในช่วงก่อนโควิด-19 แต่ปัจจุบัน ตัวเลขกลับลดลงมาอยู่ที่ 16 ครั้งต่อเดือน ขณะที่เงินที่ใช้ซื้อของในแต่ละครั้งกลับมากขึ้นกว่าก่อนโควิด แต่ก็ยังไม่มากเท่าช่วงล็อคดาวน์

Richard Walker ประธานกรรมการบริษัทซุปเปอร์มาเก็ต Iceland Groceries ในสหราชอาณาจักรเผยว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในซุปเปอร์มาร์เก็ตเปลี่ยนไป เพราะบริษัทมียอดขายจากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ผู้บริโภคเข้ามาซื้อของที่ร้านไม่บ่อยเท่าเดิม ช่วงที่มาซื้อกันมากมักจะเป็นช่วงสิ้นเดือน

ซื้อสินค้าทางออนไลน์น้อยลง

ปัจจุบัน ในสหราชอาณาจักร ผู้บริโภคซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทางออนไลน์คิดเป็น 11.7% ของการใช้จ่ายทั้งหมด ลดลงจาก 15.4% ในช่วงต้นปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดสูงสุด Fraser McKevitt หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าและการบริโภคของ Kantar ให้เหตุผลว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กลับไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าแทน

อย่างไรก็ตาม การซื้อของออนไลน์ยังถือว่ามีสัดส่วนมากกว่าในช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีอยู่ราว 8% Catherine Shuttleworth ผู้ก่อตั้ง Savvy Marketing บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการตลาดเผยว่า กลุ่มคนที่อายุน้อยกว่าก็ยังเลือกซื้อของออนไลน์เป็นช่องทางหลักอยู่

ซุปเปอร์มาร์เก็ตสร้างแบรนด์สินค้าเอง

ในปี 2005 ยอดขายสินค้าของแบรนด์ที่ซุปเปอร์มาเก็ตเจ้าของมีสัดส่วน 45% จากยอดขายทั้งหมด ขณะที่ในช่วงสิ้นปี 2022 สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเป็น 51%

ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ของซุปเปอร์มาเก็ตมากขึ้นเพราะมีราคาถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ ที่มีมานานแล้ว Catherine Shuttleworth กล่าวว่า แม้แต่คนที่เคยปฏิเสธสินค้าแบรนด์เหล่านี้ก็เปลี่ยนใจมาซื้อ ขณะที่ซุปเปอร์มาเก็ตเองก็พยายามขยายแบรนด์ของตัวเองเพราะช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาด

ร้านขายของลดราคาเติบโตแรง

Aldi และ Lidl ร้านค้าปลีกสัญชาติเยอรมันที่เน้นกลยุทธ์ขายสินค้าราคาถูกเพื่อเพิ่มการแข่งขัน มียอดขายเพิ่มขึ้น 23% ในช่วงต้นปีนี้จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งนับว่ายอดขายเติบโตสูงเป็น 2 เท่าของซุปเปอร์มาเก็ตที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรอย่าง Tesco และ Sainsbury’s

ร้านขายของลดราคาพวกนี้มีสัดส่วนยอดขายมาเป็น 10 ปี แต่เติบโตขึ้นมากหลังจากค่าครองชีพเริ่มสูงขึ้น Adam Leyland บรรณาธิการของ Grocer Magazine มองว่า Lidl อาจกลายเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของสหราชอาณาจักรก็ได้ หลังจากที่ Aldi แซงหน้า Morrisons และกลายเป็นที่ 4 ไปเรียบร้อยแล้ว

Leyland กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นขายของลดราคามักจะไม่ใช่ร้านหลักที่ผู้บริโภคจะมาซื้อสินค้า แต่เทรนด์เปลี่ยนแปลงไปแล้วในปัจจุบัน ทำให้ร้านประเภทนี้ขึ้นมาเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภค แต่ก็ยังมีคนไม่มากที่เลือกซื้อของในร้านค้าลักษณะนี้เพียงแห่งเดียวโดยไม่ซื้อที่ร้านอื่นร่วมด้วย

ผู้บริโภคซื้อของร้านเดิมซ้ำเพื่อส่วนลด

ยอดขายที่มาจากส่วนลดและโปรโมชั่นหน้าร้านลดลงอย่างมากมาตั้งแต่ปี 2014 โดยในปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 25% ของยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 40%

สาเหตุมาจากที่ ผู้บริโภคหันไปสนใจแผนการตลาดเพื่อสร้าง Brand Loyalty ของแบรนด์เพื่อให้ได้ส่วนลด จากเดิมที่มักจะเป็นการสะสมแต้มในบัตรสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษ ปัจจุบันแบรนด์เปลี่ยนมาเป็นการตั้งโปรโมชันหรือการให้ส่วนลดที่ผู้บริดภคจะได้รับก็ต่อเมื่อเป็นสมาชิกของแบรนด์

ตัวอย่างก็อย่างเช่น เมื่อต้องการซื้อสินค้าตามโปรโมชันที่ลดราคาก็จะต้องสแกนบัตรสมาชิกหรือสแกนแอปพลิเคชันเมื่อจ่ายเงินซื้อสินค้า ผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกได้ส่วนลด ส่วนแบรนด์ก็จะได้ข้อมูลที่จะนำไปทำการตลาดต่อไป

ทั้งนี้ Adam Leyland กล่าวว่า การเปลี่ยนไปทำการตลาดแบบนี้ไม่ได้ช่วยสร้าง Brand Loyalty จริง เพราะนักช็อปปิ้งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสมาชิกแบรนด์มากกว่า 1 แบรนด์อยู่แล้วเพราะการเป็นสมาชิกง่ายขึ้น ไม่ต้องพกบัตรหลายไป เพียงแค่สแกนจากแอปพลิเคชัน

ที่มา – BBC