พลเมืองบรรษัทที่ดี Good Corporate Citizen บนฐาน G เข้มแข็ง ดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม

 การบริหารธุรกิจให้อยู่รอดอย่างยั่งยืนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ โมเดลธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อสังคม ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียทุกคน รวมถึงพนักงานควบคู่กับการปรับตัวรับพัฒนาการทางเทคโนโลยี

องค์กรธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลเชิงบวกต่อสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วยการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองบรรษัทที่ดี หรือ Good Corporate Citizen จะเพิ่มความได้เปรียบหลายด้าน ทั้งการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดี โอกาสในการดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานและโอกาสในการระดมทุน

องค์กรธุรกิจมีแนวปฏิบัติเพื่อเป็นพลเมืองบรรษัทอย่างไร และควรทำอย่างไรเพื่อให้เป็นพลเมืองบรรษัทที่ดี และดีขึ้นกว่าเดิม มาหาคำตอบได้กับ ดร. กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนา Good Corporate Citizenship ให้กับบริษัทจดทะเบียนไทยมาตลอด 2 ทศวรรษ

ดร. กฤษฎา กล่าวว่า ตลท. ได้นิยาม Good Corporate Citizenship ในแนวทิศทางเดียวกับสากล กล่าวคือ “เป็นองค์กรที่เป็นพลเมืองที่ดีในสังคม ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน”

การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ Good Governance ถือเป็นพื้นฐานในการทำดีขององค์กรธุรกิจ แต่ในยุคปัจจุบันที่โลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environment) และสังคม (Social) และการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น การทำความดีภายในองค์กรแบบเดิม เช่น การดูแลพนักงาน การมีระบบควบคุมภายใน มีการตรวจสอบและถ่วงดุลจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการดูแลผู้มีส่วนได้เสียภายนอกที่เชื่อมโยงกับองค์กรทั้งใกล้และไกลด้วย

“การทำความดี มีความรับผิดชอบจึงไม่จำกัดแค่ภายในองค์กรแล้ว แต่ข้างนอกก็ต้องดีด้วย การทำความดี เป็นพลเมืองบรรษัทที่ดี ทำให้เกิดบรรษัทภิบาลที่เข้มแข็ง ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ดังนั้น G หรือ Governance จึงเป็นรากฐาน เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ แล้วเพิ่ม E หรือ Environment และ S หรือ Social เข้ามา เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รากฐานอันนี้จะทำให้บริษัทเป็นพลเมืองบรรษัทที่ดี”

ดร. กฤษฎา กล่าวว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันเป็นยุคที่เน้นความสมดุลระหว่างคน (People) โลก (Planet) และผลประกอบการ (Profit) จะเห็นได้ว่า บริษัทที่ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องนี้  จะทำให้มีผล
การดำเนินงานทางการเงินที่ดีในระยะยาว หากเป็นบริษัทจดทะเบียนก็จะมีผลต่อราคาหุ้นอีกด้วย

สำหรับนโยบายของตลท. ในการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนให้เป็น Good Corporate Citizen นั้น ดร.กฤษฎากล่าวว่า ตลท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริษัทจดทะเบียน โดยในช่วงเริ่มแรกมี
การวางรากฐานและสนับสนุนเรื่อง CG Development System ต่อมาได้พัฒนาแนวคิดว่า ในการดำเนินธุรกิจ ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งรวมถึงประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลท. สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนนำเรื่อง ESG ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง หรือที่เรียกว่า ESG Integration in Business มีการเปิดเผยข้อมูล ESG อย่างโปร่งใส เพื่อให้บริษัทมุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน

บอร์ดมีบทบาทต้องวางมาตรฐาน

ดร. กฤษฎากล่าวถึง แนวทางการขับเคลื่อนความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจให้บรรลุผลเพื่อเป็นพลเมืองบรรษัทที่ดีนั้น องค์กรจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนในทุกระดับและทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย และกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืนของธุรกิจ มีการกำหนดห่วงโซ่คุณค่า ระบุผู้มีส่วนได้เสีย กำหนดและจัดลำดับความสำคัญทางธุรกิจ (Materiality) ซึ่งคณะกรรมการและผู้บริหารมีบทบาทสำคัญในขั้นตอนนี้ จากนั้นบุคลากรทุกระดับและทุกภาคส่วนขององค์กรจึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับแผนงานและเป้าหมายที่กำหนดไว้

“คณะกรรรมการ ซึ่งเป็นผู้ให้นโยบายนำทิศทางองค์กร ต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับ
การตรวจสอบและถ่วงดุล การดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับการกำหนดมาตรฐานทั้งหมด ส่วนผู้บริหารก็ต้องทำให้พนักงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท มีความเข้าใจ ลงมือทำกันอย่างเข้มแข็ง ร่วมมือกันทั้งองค์กร เพื่อเป็นพลเมืองบรรษัทที่ดี”

ปัจจุบันความยั่งยืนกลายเป็นกลยุทธ์ใหญ่ของบริษัท ดังนั้น การเป็นพลเมืองบรรษัทที่ดี ต้องมีคำว่า ESG อยู่ใน DNA ซึ่ง DNA แต่ละบริษัทนั้นแตกต่างกันตามลักษณะของธุรกิจ

แนวทางจัดการ 2 ประเด็นหลักที่สังคมจับตา

ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังจับตามองประเด็นด้านความยั่งยืน 2 ประเด็น ซึ่งได้แก่ “การเคารพสิทธิมนุษยชน” และ “การจัดการก๊าซเรือนกระจก”

สำหรับประเด็นการเคารพสิทธิมนุษยชน ดร. กฤษฎา กล่าวว่า ธุรกิจสามารถเริ่มต้นดำเนินการโดยกำหนดนโยบายและเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานก่อน เช่น การไม่เลือกปฏิบัติ การจ่ายค่าจ้างอย่างเป็นธรรม และดูแลความปลอดภัยในที่ทำงาน เป็นต้น และมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นภายในองค์กร

ส่วนประเด็นการจัดการก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจสามารถดำเนินการได้โดยวิเคราะห์ว่า กิจกรรมใดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานสูง และหาวิธีการเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดกว่าเดิม ลดการใช้พลังงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

“เมื่อดำเนินการได้ทั้ง 2 ประเด็นแล้ว ธุรกิจสามารถขยายผลเรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่า เช่น การเลือกทำธุรกิจกับคู่ค้าที่ไม่มีการละเมิดเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง
การขยายผลดังกล่าวจะส่งผลเป็นวงกว้างต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและประเทศ” ดร. กฤษฎากล่าว

“พลเมืองบรรษัท” ในฐานะที่เป็น “พลเมืองโลก”

ดร. กฤษฎากล่าวว่า บริษัทจดทะเบียนไทยที่ทำเรื่อง ESG ได้ดี ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ประจักษ์ในระดับสากล ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล โดยมีบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในดัชนีด้านความยั่งยืนในระดับโลก เช่น DJSI ถึง 24 รายมากที่สุดในอาเซียน 8 ปีติดต่อกัน (ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2564 ซึ่งเป็นปีล่าสุด) เป็นลำดับที่ 9 ในกลุ่ม DJSI World และเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่ม DJSI Emerging รวมถึงมี บจ.ไทยใน MSCI ESG Universal Index 39 บจ. สูงสุดในอาเซียน  และมี บจ. ไทยใน FTSE4Good Emerging Indexes 38 บจ. สูงสุดในอาเซียนเช่นกัน

ดร. กฤษฎากล่าวว่า การที่บริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนสากล โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจให้ความสำคัญทั้งการสร้างผลประกอบการที่ดีควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้าน ESG โดยให้ความสำคัญกับการระบุความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) รอบด้านมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) และความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Risk) ทั้งในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินความยั่งยืนในระดับสากลที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทและข้อมูลด้านความยั่งยืน

“การทำธุรกิจยุคต่อไปต้องประณีตมากขึ้น การเป็นพลเมืองบรรษัท ก็ต้องประณีต ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน องค์กรธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไปก็ต้องประณีตมากขึ้นเพื่อการดำรงชีวิตในโลกในยุคต่อไป หากไม่มีใครใส่ใจ สังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะแย่ลง คนรุ่นลูกรุ่นหลานก็จะอยู่ไม่ได้” ดร. กฤษฎากล่าว