เหตุที่สนใจเข้าสู่โซเชียลมีเดียครั้งแรก และเลือก #Clubhouse เพราะว่าเป็นแพล็ตฟอร์มที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ และส่วนใหญ่เนื้อหาจะเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งส่วนตัวชอบที่จะเรียนรู้กับคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเห็นว่าคนเก่งในวงการนี้มีเยอะจะนำความรู้ความสามารถมาปรับใช้ในเครือได้ด้วย
มอง “โควิด-19” หนักกว่า “ต้มยำกุ้ง” เพราะว่าเกิดขึ้นทั่วโลก แต่วิกฤตตรงนี้ จะเปลี่ยนโลกชนิดหน้ามือหลังมือ เพราะเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเร็วขึ้น และพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ให้มองว่าวิกฤตคือโอกาส
มองว่า สตาร์ทอัป เมืองไทย ยังติดปัญหาเรื่อง การขาดเงินในการสนับสนุน ซึ่งไทยมีสตาร์ทอัพเก่งๆ มากมาย แต่ยังขาดในเรื่องเงินทุน และอาจจะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ไม่ได้เปิดกว้างในการดึงนักลงทุนและสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ซึ่งจุดนี้จะนำทั้งเงินและองค์ความรู้มาให้ประเทศไทยได้อย่างดี
ยอมรับว่า รู้สึกพลาดที่วันนั้น “แจ็คหม่า” เคยมาชวนไปลงทุน แต่ปฏิเสธไป เพราะวันนั้นไม่เข้าใจการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งถ้าย้อนไปในช่วงนั้นถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ มองไม่เห็นว่าเป็น “ภูเขาทองคำ” ทำให้วันนี้สนใจจะศึกษาเรื่อง บิทคอยน์ เพราะไม่อยากตกเทรนด์การทำธุรกิจ แต่ก็ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจธรรมชาติหรือแก่นแท้ของมันดีมากนัก
เรียกร้องให้ภาครัฐ เปิดเสรีด้านภาษีให้ทั้งนักลงทุนต่างชาติและสตาร์ทอัพต่างชาติ เพื่อส่งเสริมวงการสตาร์ทอัพไทยให้แข็งแกร่งขึ้น
การทำสตาร์ทอัพที่ดีในมุมมอง คุณธนินท์ คือต้องมีการใช้เทคโนโลยี และสำคัญคือ ต้องใหม่และยังไม่มีใครเคยทำ เพราะถ้าทำไปแล้วสู้เขาไม่ได้หรือไปเหมือนกับคนอื่น มีโอกาสจะไปไม่รอด สำคัญคือไม่ควรทำคนเดียวต้องมีทีมงานที่ดี
ตั้งกองทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพไว้ 3,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้แค่สนับสนุนด้านเงิน แต่ยังพร้อมให้องค์ความรู้ และหาตลาดในการต่อยอด เช่น อาจจะนำมาขายในเซเว่นฯ ก็ได้ นอกจากนี้ ยังพร้อมช่วยในการบริหาร ผ่านประสบการณ์การทำธุรกิจที่มีมานาน แล้วนำของใหม่มาประยุกต์ปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
คำแนะนำการทำธุรกิจแบบ 4.0 คือต้อง “ทำของใหม่” ต้องทำอะไรที่ใหม่ ซึ่งคนรุ่นเก่าที่ไม่เก่งเทคโนโลยี สามารถช่วยเหลือได้ทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ รวมไปถึงช่วยเหลือในการหาตลาดได้ด้วย
วิธีการปลุกพลังทีมงานแบบ คุณธนินท์ คือ มอบหมายงานที่เหมาะสมให้ แต่สำคัญคือ ต้องเปิดโอกาสให้ได้ลองผิดลองถูก ให้อำนาจในการตัดสินใจ ไม่บงการ “ชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ” สนับสนุนและติดตาม เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และขณะเดียวกันคนเป็นหัวหน้าก็จะได้เรียนรู้ไปด้วย
สิ่งสำคัญในการเริ่มทำธุรกิจคือ การศึกษาหาความรู้ก่อนลงมือทำ ไม่ใช่หลับหูหลับตาทำ แต่ต้องทำอย่างเข้าใจ มากไปกว่านั้นคือ ทำงานแบบเป็นทีมต้องหาคนเก่งๆ มาร่วมงานด้วย