7 ปี “น้ำพางโมเดล” โมเดลต้นแบบ Social Enterprise สร้างงานสร้างอาชีพ ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 กับโครงการน้ำพางโมเดล ต.น้ำพาง จ.น่าน ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนการฟื้นฟูป่าควบคู่กับการ สร้างงานสร้างอาชีพ ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้อย่างสมดุล โดยเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา น้ำพางโมเดล ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากงาน ซีพีเพื่อความยั่งยืน ปี 2022 ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจกับทีมงานและคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ และจะสามารถกลายเป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชน และทำให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

คุณฤทธิชัย เจริญสุข ผู้จัดการแผนก ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า “เราเริ่มต้นโครงการจากการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาภูเขาหัวโล้นจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดย เครือฯ ได้เข้าไปพัฒนาส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้แก่เกษตรกร เพื่อให้สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ปลูกพืชที่อยู่ร่วมกับป่าได้ เช่น มะม่วงหิมพานต์ กาแฟโรบัสต้า ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อรับซื้อผลผลิต สนับสนุนการแปรรูป ต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับรายได้แก่เกษตรกร การได้รับรางวัลซีพีเพื่อความยั่งยืนครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจและบ่งบอกว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์”


จุดเริ่มต้นที่ทำให้เครือซีพีเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการฯ

เมื่อภาครัฐเกิดนโยบายจัดสรรที่ดินทำกินขึ้น เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่ได้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมไปถึงการก่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง ไฟป่า และหมอกควัน จึงทำให้เกิดการร่วมมือเพื่อหาทางแก้ไข โดยที่ภาคประชาชนได้เข้ามาจับมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งทางภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อหารือ และหาทางออกตรงกลางร่วมกัน เกิดเป็น “น้ำพางโมเดล” โดยมีภาคประชาชนในชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมหลักในทุกกระบวนการตั้งแต่แรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งเครือซีพีได้เล็งเห็นความสำคัญ และมองเห็นศักยภาพของชุมชนที่จะสามารถพัฒนาไปสู่โมเดลธุรกิจ Social Enterprise ได้ จึงได้เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมด้านการส่งเสริมองค์ความรู้ในหลากหลายด้าน เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

“ความร่วมมือ” หัวใจสำคัญที่ทำให้ น้ำพางโมเดล ไปสู่ความสำเร็จ

ภาคีเครือข่าย 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะนำ น้ำพางโมเดล ไปสู่ความสำเร็จ ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันเป็นเจ้าของ” โดยทั้ง 4 เครือข่ายมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ ทำเพื่อชุมชน คน และป่า

เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชน ด้านการส่งเสริมความมั่นคงทางอาชีพ ที่จะช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ผลักดันชุมชนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน ด้านการยกระดับอาชีพเกษตรกรในชุมชน โดยการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนตำบลน้ำพาง รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรสู่การแปรรูปทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ นอกจากนี้ยังได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนในด้านการฟื้นฟูระบบนิเวศ จัดกิจกรรมปลูกป่า กิจกรรมบวชป่า สร้างแนวกันไฟและลาดตระเวนป้องกันไฟป่า และด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อจัดทำข้อมูลที่ดินทำกินในระดับตำบล เพื่อกำหนดขอบเขตที่ดินทำกินและป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม

การระเบิดจากภายในของชุมชน เพื่อความอยู่รอด ความเข้มแข็งของชุมชนที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค

“น้ำพางโมเดล จะประสบความสำเร็จได้ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทั้ง 4 ภาคส่วน หนึ่งเลยคือชาวบ้านจะต้องมีความกล้าลุกขึ้นมาจัดการปัญหาร่วมกัน รวมไปถึงผู้นำชุมชนทุกคนจะต้องเข้ามาช่วยกันหาทางแก้ไข ซึ่งโชคดีที่ผู้นำชุมชนและประชาชนเห็นพ้องที่จะพัฒนาชุมชนไปในทางเดียวกัน” คุณปวรวิช คำหอม ผู้จัดการน้ำพางโมเดล กล่าว

ความสำเร็จก้าวแรกของ “น้ำพางโมเดล”

ปัจจุบันน้ำพางโมเดล ได้รักษาระบบนิเวศป่าเดิมให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวจำนวน 2,800 ไร่ นับเป็น 91% จากพื้นที่ในตำบลน้ำพาง สามารถป้องกันไฟป่าได้จำนวน 10,000 ไร่ เกิดศูนย์ GIS มีฐานข้อมูลพื้นที่ทำกินครบทั้ง 10 หมู่บ้าน เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบพื้นที่ดินทำกินของเกษตรกร และลดการบุกรุกพื้นที่ป่า ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสานจำนวน 2,767 ไร่ โดยปลูกไม้ป่าและไม้ผลรวม 108,465 ต้น ได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนตำบลน้ำพาง รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร กาแฟโรบัสต้า และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน


ความสำเร็จก้าวต่อไปที่ยังคงต้องใช้เวลา…และความอดทน จากทุกภาคส่วน

เป้าหมายต่อไปในอนาคตของน้ำพางโมเดล คือเพิ่มคุณภาพของผลผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ยกระดับโรงแปรรูปเพื่อสามารถจำหน่ายได้ใน Modern Trade เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน ยกระดับโครงการสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ และต่อยอดพื้นที่เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ขับเคลื่อนต่อยอดมุ่งสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อขยายผลกลายเป็นโมเดลต้นแบบสู่พื้นที่อื่นต่อไปในอนาคต