เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี มุ่งสร้างความยั่งยืนกลับสู่สังคมในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการผลักดันธุรกิจชุมชนให้สามารถยืนได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมยกระดับสินค้าการเกษตรและสินค้าชุมชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
คุณพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านปฏิบัติการความยั่งยืนและกิจการเพื่อสังคม เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้นำสำคัญที่เข้ามาผลักดันการทำงานด้าน Social Enterprise ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชน ‘ทำอย่างไรก็ได้ ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น’ คือคติที่เธอยึดมั่น เพราะการยกระดับธุรกิจเกษตรระดับชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ต้องใช้องค์ความรู้ การจัดการที่มีระบบ และการทำงานเป็นทีมอย่างสูง นอกจากนี้ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ มากมายที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้น การร่วมมือร่วมใจจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาและเดินหน้าร่วมกันต่อไป
ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการทั้งหมด 5 โครงการในหลากหลายพื้นที่ ได้แก่ โรงแปรรูปวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้บ้านสบขุ่น จ.น่าน, โรงแปรรูปกาแฟวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านเลาสู จ.ลำปาง และศูนย์แปรรูปกาแฟเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคมแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ผลักดันธุรกิจกาแฟในชุมชนก้าวสู่ธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังมี สำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.น่าน ที่ขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนอย่างครอบคลุมในพื้นที่ และมีการผนึกกำลังพัฒนา Social Enterprise ธุรกิจกลางน้ำ “มะพร้าวน้ำหอม” ร่วมกับ สถาบันปิดทองหลังพระฯ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงาน 4 มิติ ได้แก่ การฟื้นฟูป่าและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิต ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น การจัดสรรกำไรสุทธิ เพื่อต่อยอดพัฒนาชุมชน รวมถึงการสร้างและพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ดำเนินการด้วยหลักยุทธศาสตร์ของเครือฯ Heart Health Home ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เธอกล่าวเสริมว่า ‘ท้องต้องอิ่มก่อน Social Enterprise (SE) จึงจะจัดสามารถสรรรายได้กลับสู่ชุมชนได้’ ดังนั้น ต้องมองภาพกว้างและภาพลึกควบคู่กันไป การจะพัฒนาชุมชนจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตในแต่ละครัวเรือนให้ได้ก่อน
การดำเนินงานในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์ เช่น สภาพดิน หรือแหล่งน้ำ รวมไปถึงชาวบ้าน เกษตรกรและชุมชน CP Social Enterprise จึงเป็นการนำโมเดลธุรกิจที่มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาสนับสนุนโมเดลย่อยในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกลยุทธ์ที่แก้ไขปัญหาได้จริง เกิดผลลัพธ์วัดผลได้ สร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดการผสานความร่วมมือ เป็นโมเดลต้นแบบที่ขยายผลต่อยอดได้ สามารถแข่งขันในตลาด เติบโตอย่างยั่งยืน และชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
ซีพี พร้อมเดินหน้าผลักดันชุมชนสู่ธุรกิจเพื่อสังคมด้วยการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดภายในพื้นที่ จากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ร่วมถ่ายทอดแนวคิดและกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ ยกระดับสินค้าและบริการชุมชนให้ได้มาตรฐาน พร้อมแข่งขันในตลาดได้จริง สร้างรายได้และอาชีพในแต่ละพื้นที่มุ่งสู่ธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิดซีพีร้อยเรียงความดี