เครือเจริญโภคภัณฑ์ยกระดับการพัฒนางานด้านความยั่งยืน ต้นน้ำยม พื้นที่ บ้านดอนไชยป่าแขม จ.พะเยา ส่งเสริมปลูกไผ่ พืชมหัศจรรย์ กระจายรายได้หลักของวิสาหกิจชุมชน ในวิกฤตที่หลายครัวเรือนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เกษตรกรบ้านดอนไชยป่าแขม จ.พะเยา กลุ่มเกษตรกรที่ขับเคลื่อนงานร่วมกับเครือ CP เมื่อปี 2561 คือการทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ในกลุ่มและขยายช่องทางการจำหน่ายให้ชุมชนใกล้เคียง ด้วยพื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่ราบ อาศัยน้ำฝนในการทำการเกษตรเป็นหลัก พืชทางเลือกที่ทนเเล้ง เหมาะสมในการปลูก เเละสามารถเสริมรายได้ในพื้นที่ คือ ไผ่ อีกทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจ ยังก่อให้เกิดป่า ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำเป็นห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ อีกทั้งไผ่สามารถพัฒนาเป็นอาชีพ ยกระดับชุมชนจากพอมีพอกินให้เป็นอยู่ดีมีสุข เเล้วยังสามารถต่อยอดรูปแบบอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
นายชัยวัฒน์ พุฒศรี ผู้จัดการแผนกปฏิบัติการความยั่งยืน หน่วยงานพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ในพื้นที่บ้านดอนไชยป่าแขม คือหนึ่งพื้นที่ที่มีการพัฒนาชุมชน ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เเละ สิ่งแวดล้อม หากชุมชนแห่งนี้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะสามารถผลักดันชุมชนให้กลายเป็นที่รู้จักเกิดการยอมรับได้มากยิ่งขึ้น โดยในพื้นที่ส่วนใหญ่ คนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนแห่งนี้ ให้เกิดความสำเร็จ โดยบ้านดอนไชยป่าแขม ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และอื่นฯ ที่เข้ามาร่วมกันผลักดันสนับสนุนความฝันในชุมชน ในปัจจุบันโครงการส่งเสริมการปลูกไผ่ซางหม่นของเกษตรกร ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 มีพื้นที่ปลูกจำนวน 20 ไร่ มีเกษตรกรกลุ่มไผ่จำนวน 8 คน และมีการจำหน่ายกล้าพันธ์ซางหม่นไผ่ไปกว่า 100 ต้นในช่วงที่ผ่านมา แม้เป็นจุดเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย แต่ในอนาคตเชื่อว่าสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตกล้าพันธ์ไผ่ซางหม่น ขยายผลเเละต่อยอดอาชีพนี้ไปสู่ความยั่นยืนได้เป็นอย่างดี
พืชตระกูลไผ่มีความสำคัญอย่างไรกับชุมชน
นอกจากจุดเริ่มการผลิตกล้าพันธุ์ไผ่ซางหม่นเพื่อจำหน่ายเเล้ว ส่วนต่าง ๆ ของต้นไผ่ยังมีประโยชน์ อาทิ หน่อใช้ประกอบอาหาร, ลำไม้ไผ่สามารถแปรรูปเป็นจักสานต่าง ๆ , ผลิตเฟอร์นิเจอร์ สร้างรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวในระดับท้องถิ่น , เเละต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมได้ในอนาคต ก่อให้เกิดการสร้างงาน ตั้งแต่กระบวนการปลูกจนถึงพัฒนาสินค้า และช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาโครงสร้างของดิน และคืนชีวมวลกลับลงสู่ผืนดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดินได้ดีเยี่ยม
ผลักดันชุมชนให้ถึงเป้าหมาย
สำหรับความคาดหวังต่อชุมชน แบ่งเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 คือคาดหวังให้เกษตรกรในพื้นที่หลังจากที่มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเเล้ว เป็นที่รู้จักเมื่อคนได้ยินชื่อ บ้านดอนไชยป่าแขม ต้องนึกถึงเรื่องไผ่ พร้อมปลุกความเชื่อมั่นให้เกษตรกร ปลูกแล้วสามารถขายได้จริง ผลักดันสู่การขยายกลุ่มจำหน่ายไผ่ในพื้นที่ให้มีความเข้มเเข็ง มิติที่ 2 ช่วยเกษตรกรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจ สร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ต้นน้ำ เกิดการหมุนเวียนในชุมชน ส่วนสุดท้าย คือหน้าที่ในการผลักดัน จากการปฏิบัติหน้าที่ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนชุมชนให้ไปในทิศทางที่ทีมวางไว้คอยทำหน้าที่สนับสนุน เเละเป็นที่ปรึกษา ในการดำเนินงานของกลุ่ม ร่วมหาช่องทางตลาด ผลักดันชุมชนให้เป็นที่รู้จัก เเละเป็นชุมชนต้นแบบของความสำเร็จ สำหรับอาชีพทางเลือก โดยใช้ไผ่เป็นพืชเบิกนำ
ผลตอบรับจากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้เป็นอย่างไร
การก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แม้ในวันนี้ไผ่ในชุมชนอาจยังไม่มากพอ แต่เชื่อว่าภายในอนาคตเราจะสามารถชี้ให้ผู้คนเห็นความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะบางเรื่องอาจต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ความสำเร็จอาจไม่ได้มาเพียงข้ามวัน แต่ความสม่ำเสมอนั้นจะทำให้ทุกคนสัมผัสถึงความจริงใจ และเรามุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาต่อไป