องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ออกมาเตือนว่า ขณะนี้มีโอกาสประมาณ 40% ที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยประจำปีจะสูงกว่าระดับก่อนการปฏิบัติอุตสาหกรรมถึง 1.5 องศาเซลเซียส อย่างน้อยใน 5 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่าถ้าอุณหภูมิเลยจากจุดนี้จะเกิดความเสี่ยงจากภัยแล้ง, ไฟป่า, น้ำท่วมและการขาดแคลนอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
สาเหตุที่โลกเราร้อนขึ้นจนเสี่ยงเลยเส้นตาย 1.5 องศาเซลเซียส เรียกว่าเอาไม่อยู่แล้ว สะท้อนผ่านผลการศึกษาใหม่ของนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐและหลายชาติของยุโรปส่วนหนึ่งที่เปิดเผยว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลของมนุษยชาติได้ทำให้บรรยากาศชั้น “สตราโตสเฟียร์” (Stratosphere) ซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 20-60 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก กำลังหดตัวบางลงถึง 400 เมตร ตั้งแต่ปี 1980
และจะบางลงอีกประมาณ 1 กิโลเมตรภายในปี 2080 หรืออีก 59 ปีข้างหน้า หากไม่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างจริงจัง
อธิบายตามแบบจำลองให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ในขณะที่ชั้นโทรโพสเฟียร์ (มนุษย์อาศัยอยู่) ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ มันก็จะไปดันหรือกินพื้นที่ของชั้นสตราโตสเฟียร์ เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นสตราโตสเฟียร์มีผลทำให้เย็นลงจากการรวมกันของก๊าซ ส่งผลให้เกิดแรงหดตัว ซึ่งก็คือ การทำให้สตราโตสเฟียร์บางลง
แบบจำลองยังคาดการณ์ไปข้างหน้าว่า สตราโตสเฟียร์จะยังคงผอมบางลงอีกตราบเท่าที่ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การที่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์บางลง นอกจากจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศโลกแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของดาวเทียม ระบบนำทาง GPS และการสื่อสารทางวิทยุ เนื่องจากคลื่นสัญญาณเหล่านี้เดินทางในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์
รายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research Letters ระบุว่า เมื่อมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์มากขึ้น จะทำให้อากาศที่ระดับความสูงดังกล่าวเย็นตัวลงยิ่งกว่าเดิม
ซึ่งนอกจากส่งผลให้บรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์หดตัวลงแล้วยังทำให้มีการขยายตัวของอากาศร้อนในบรรยากาศชั้นล่างหรือโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งอยู่ติดกันและมนุษย์อาศัยอยู่ ยิ่งร้อนมากขึ้นหรือยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนมากก็จะยิ่งดันให้ขอบเขตของสตราโตสเฟียร์หดแคบลงไปอีก
ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ที่บางลงและเกิดรูโหว่ในชั้นโอโซน (ดูภาพในคอมเมนต์) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ด้วยนั้น ไม่กระทบต่อชั้นโอโซนเพราะส่วนใหญ่ได้ฟื้นคืนสภาพหลังจากมีการห้ามใช้สาร CFC หลังจากสนธิสัญญามอนทรีออล ปี 1989 จนรูโหว่บางส่วนปิดลงแล้ว (CFCs หรือ Chlorofluorocarbons เป็นสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โฟม, ตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นสเปรย์ เมื่อลอยขึ้นไปสะสมในชั้นสตราโตสเฟียร์จะกลายเป็นอนุภาคที่ทำลายโอโซน)
สตราโตสเฟียร์ที่หดตัวบางลงเป็นสัญญาณของภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง Juan Añel จากมหาวิทยาลัย Vigo Ourense ในสเปนและเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย ระบุว่า มันน่าตกใจ แม้จะทราบดีอยู่แล้วว่าโทรโพสเฟียร์มีความสูงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นและตั้งสมมติฐานว่าสตราโตสเฟียร์กำลังหดตัวก็ตาม
นอกจากนี้ยังสะท้อนว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศทำให้แกนโลกเปลี่ยนไป เนื่องจากการละลายของธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ทำให้น้ำหนักกระจายไปทั่วโลก
ที่มา : เพจ iGreen