คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมเวทีเสวนา “วิถียั่งยืน ชุบชีวิตธุรกิจ-สังคม” ในงานสัมมนา “ภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดยมีผู้นำจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจ SMEs อาทิคุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองความสำเร็จในการนำองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในงานมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวเปิดงานสัมมนา และได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษ
ในการนี้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพี ได้ร่วมเวทีสัมมนาเรื่อง “ภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.ภากร ปิตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคุณพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) โดยคุณศุภชัย กล่าวว่า ไม่ว่าตนจะอยู่ในบทบาทใด ทั้งในฐานะซีอีโอเครือซีพี ประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คฯ และประธานสภาดิจิทัลฯ พบว่าการตระหนักรู้ หรือ Awareness เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในทุกเรื่องสำคัญในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ ซึ่งความตระหนักรู้เกิดจากการรู้ว่าตัวชี้วัดที่สำคัญคืออะไรและบทบาทของเราสำคัญอย่างไร ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ไปร่วมเวทีระดับโลกหลายครั้ง อาทิ World Economic Forum , One Young World สิ่งที่ผู้นำเหล่านั้นพูดเหมือนกันคือ ปัญหาในสังคมทั้งหมดต้องแก้โดยเอกชนที่มีความต่อเนื่องมากกว่า และที่สำคัญภาคเอกชนมีบทบาทตรงในการเชื่อมระหว่าง 2 โลก คือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการปฏิบัติตามที่ตลาดต้องการ ดังนั้นจะเห็นข้อมูลทั้งสองด้าน ทำให้มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาในสังคม ทั้งนี้ บทบาทไม่ใช่เฉพาะการทำซีเอสอาร์ แต่ภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาระดับโลก ที่ไม่เคยเข้าไปร่วมมาก่อนได้ 4 ด้านดังนี้ 1.ภาวะโลกร้อน (global warming) ที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีการคาดการณ์ว่า ถ้าบวกเพิ่มอีก 10% สัตว์โลกจะหายไป 16% ซึ่งรวมถึงมนุษย์ด้วย 2.ตั้งเป้าการบรรลุสถานะของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (net-zero carbon) 3.ขยะเหลือศูนย์ (zero waste) 4.ความเสมอภาค (human right) โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา ซึ่งเมื่อภาคธุรกิจเริ่มตั้งเป้าใน 4 ประเด็นดังกล่าว ก็จะเริ่มขยับและเดินหน้าไปก้าวถัดไปได้เอง
คุณศุภชัย กล่าวต่อว่า หากภาคเอกชนสนับสนุน ขับเคลื่อน และมองเป้าหมายความยั่งยืนควบคู่กันจะช่วยโลกได้มาก นอกจากนี้สื่อก็มีความสำคัญในการเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่สอดแทรกการส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อสร้างการตระหนักรู้กับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงอายุได้อีกทางหนึ่ง