เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่ปี 2573 ยืนยันความมุ่งมั่นในการทำให้ธรรมาภิบาลและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งเดียวกับธุรกิจ ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อโลก เพื่อคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งต่อยอดความสำเร็จจากเป้าหมายความยั่งยืนในปี 2563 และการมีส่วนร่วมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติทั้ง 17 เป้าหมายภายในปี 2573
ทั้งนี้ ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเป็นแนวปฏิบัติครอบคลุมบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้านหลัก คือ Heart: Living Right, Health: Living Well และ Home: Living Together เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2564 ถึงเดือนธันวาคม 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี โดยมีประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน 15 ประเด็นดังนี้
1. การกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance) ครอบคลุมกระบวนการกำกับดูแลกิจการ การปลูกฝังในองค์กร จริยธรรมทางธุรกิจ การต่อต้านคอร์รัปชัน การรับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เพื่อสร้างให้เครือฯ เป็นองค์กรแห่งความไว้วางใจ มีความโปร่งใส และส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาว
2. สิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน (Human Rights and Labor Practices) ดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน, การดูแลบุคลากร, การบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อปกป้องและส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนของทุกคนตามกฎหมายในทุกประเทศที่เครือฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ และตลอดห่วงโซ่อุปทาน
3. การศึกษาและการลดความเหลื่อมล้ำ (Education and Inequality Reduction) ประสานความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อส่งเสริมการศึกษา, พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่, จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียน,สนับสนุนชุดอุปกรณ์ สื่อการสอน และส่งเสริมโครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ พร้อมทั้ง การสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
4. การพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล (Leadership and Human Capital Development) เพื่อสร้างบรรยากาศให้พนักงานได้ริเริ่มพัฒนาและส่งต่อความรู้และประสบการณ์สู่สังคม ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย
5. ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการปกป้องข้อมูล (Cyber Security and Data Protection) ครอบคลุมเทคโนโลยี กระบวนการและแนวทางปฏิบัติเพื่อปกป้องเครือข่าย อุปกรณ์ โปรแกรมและข้อมูล จากการโจมตี หรือการเจตนาเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อปกป้องทรัพย์สินของธุรกิจจากภัยคุกคามทั้งหมดจากการโจมตีทางไซเบอร์ และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานและลูกค้า
6. สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health and Well-Being) ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมของบุคคล และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งโปรตีนและโภชนาการที่ดี เพื่อช่วยยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนผ่านผลิตภัณฑ์และบริการของเครือฯ
7. คุณค่าและการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (Social Impact and Economic Contribution) เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกสังคมชุมชนที่เครือฯ เข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการส่งเสริมรายได้ให้แก่ผู้จัดหาผลิตภัณฑ์และบริการรายย่อย (Suppliers
8. ความมั่นคงทางอาหาร และการเข้าถึงโภชนาการ (Food Security and Access to Nutrition) โดยทำให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการได้ตลอดเวลา ทั้งด้านกายภาพและเศรษฐกิจที่ตรงกับความต้องการและความชอบด้านอาหาร เพื่อชีวิตที่มีความสุขและมีสุขภาพดี ช่วยยกระดับความมั่นคงด้านอาหาร และร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทั่วโลกเพื่อขจัดความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการของผู้ที่มีความลำบากหรือขัดสน
9. การบริหารจัดการนวัตกรรม (Innovation) ส่งเสริมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกองค์กร เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆ ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านต่างๆ ของเครือฯ
10. ความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Engagement) พัฒนากระบวนการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อเข้าใจความต้องการและความคาดหวังของแต่ละกลุ่ม ตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความตระหนักของคนในองค์กร และสร้างกระบวนการตรวจสอบทุกข้อร้องเรียนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างความไว้วางใจและความผูกพันที่เข้มแข็ง
11. การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งจากภายในการดำเนินงานขององค์กรและห่วงโซ่อุปทาน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน, ใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน, จัดการของเสีย, ทำการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน , ปลูกต้นไม้ยืนต้น, ดูแลรักษาป่าไม้ ทั้งที่ทำเองภายในองค์กรและทำร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานและนอกห่วงโซ่อุปทาน
12. ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นจัดการทรัพยากรอย่างระมัดระวัง ไม่ให้มีส่วนใดถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า นำผลิตภัณฑ์และวัสดุมาใช้ซ้ำ ผลิตซ้ำ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ของเสียที่เกิดขึ้น และไม่จัดการของเสียด้วยวิธีฝังกลบ รวมทั้งการพัฒนาแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ยั่งยืน
13.การดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ (Water Stewardship) จัดการความเสี่ยงจากการขาดแคลนทรัพยากรน้ำ เพิ่มสัดส่วนการนำน้ำกลับมาใช้และส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งน้ำของชุมชน เพื่อใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ สร้างให้เกิดความสมดุลของปริมาณ และความต้องการใช้น้ำของชุมชน
14. การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (Ecosystem and Biodiversity Protection) ปกป้องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตจากทุกแหล่งทั้งบนแผ่นดิน ท้องทะเล ระบบนิเวศในน้ำอื่นๆ รวมทั้ง ความหลากหลายของสายพันธุ์ พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการที่ปกป้องและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ จัดหาวัตถุดิบหลักจากแหล่งผลิตที่ไม่บุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรทางทะเล เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการดำเนินงานของธุรกิจและคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน
15.การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ (Responsible Supply Chain Management) บูรณาการปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวงจรชีวิตของสินค้าและบริการ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เสริมสร้างศักยภาพคู่ค้าธุรกิจเพื่อสร้างความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ลดผลกระทบเชิงลบตลอดห่วงโซ่อุปทานและเปลี่ยนกระบวนทัศน์ไปสู่ความยั่งยืน
ทั้งนี้ เครือฯ ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานภายใน 15 ประเด็นสำคัญดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกบริษัทในเครือฯ ร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายและเพื่อให้ทุกบริษัทมีระบบบริหารจัดการด้านความยั่งยืนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก