เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เดินหน้าสนับสนุนความยั่งยืนทางทะเล เปิดตัวสุดยอด Web Application “ควบคู่กับนวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำ” ที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อยกระดับการติดตามผล การจัดเก็บข้อมูล และการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับรองความถูกต้องทางกฎหมายด้วยการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นทางการ หนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนคือ “ธนาคารสัตว์น้ำ” ซึ่งใช้ระบบออโตเมชันควบคุมการเพาะฟักสัตว์น้ำที่มีไข่นอกกระดอง เช่น ปูม้า ปูดำ ปูแสม กั้งกระดาน และกุ้งก้ามกราม โดยปัจจุบันมีการติดตั้งระบบดังกล่าวแล้วใน 21 ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
SEACOSYSTEM: นวัตกรรมเพื่อทะเลไทย
คุณจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซีพี กล่าวถึงแนวทางนโยบายการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลผ่าน แนวคิด“SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน”มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่ออนุรักษ์ปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล
นโยบายนี้มีเป้าหมายในการสร้างสมดุลในสามมิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึง การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน หนึ่งในแนวทางสำคัญของนโยบายนี้คือการจัดการขยะทั้งชายฝั่งและในทะเล โดยมีการขับเคลื่อนทางนโยบายจากระดับประเทศถึงระดับจังหวัดและท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนและขับเคลื่อนกลุ่มประมงพื้นบ้าน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การสื่อสารสาธารณะเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของนโยบายนี้โดยมีการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลแก่สังคม เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และปกป้องทะเลไทยให้ยั่งยืนต่อไป นโยบาย “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทะเลไทยให้มีความยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ
จับมือพันธมิตรระดับโลก ขับเคลื่อนการฟื้นฟูทรัพยากรประมง
เครือซีพีผนึกกำลังมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และRamsar Center Japan จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “Crab Bank Regional Workshop” ซึ่งเครือซีพีได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานด้านการพัฒนานวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและส่งเสริมการประมงผ่านแนวทาง นวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำ (Sea innovation) ควบคู่กับฐานข้อมูลดิจิทัลทรัพยากรชุมชนประมงพื้นบ้าน” (Digital Database of Small-Scale Fisheries Resources) กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากตัวแทนชุมชนประมงในพื้นที่อ่าวไทยฝั่งตะวันออก กลุ่มชาวประมงจากอินโดนีเซียและนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนในประเทศไทย
เปิดตัว “ฐานข้อมูลดิจิทัลทรัพยากรชุมชนประมงพื้นบ้าน”
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญคือ Web Application “ฐานข้อมูลดิจิทัลทรัพยากรชุมชนประมงพื้นบ้าน” (Digital Database of Small-Scale Fisheries Resources) ที่ช่วยให้ติดตามผล การจัดเก็บข้อมุลและบริหารข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีฟีเจอร์สำคัญ ได้แก่:
- จัดเก็บฐานข้อมูลผลผลิตของชุมชนในรูปแบบดิจิทัล
- ติดตามผลการดำเนินโครงการในแต่ละพื้นที่
- รองรับมาตรฐาน Traceability และ SEACO Market
- บริหารจัดการทรัพยากรประมงพื้นบ้านได้แม่นยำ
- ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับชุมชนประมง
- ลดขั้นตอนการเก็บข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ทั้งนี้ ระบบฐานข้อมูลดังกล่าวได้รับการจดลิขสิทธิ์ “Source Code” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ในนามเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงคุณภาพและศักยภาพของเทคโนโลยีนี้ในการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
ก้าวสู่การประมงยุคใหม่เพิ่มประสิทธิภาพด้วย Web Application
การเปิดตัว Web Application นี้ถือเป็น ก้าวสำคัญของการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของประเทศไทย ที่จะช่วยให้กลุ่มชาวประมงสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง และมีตัวชี้วัดในการทำงาน